มองต่างมุม"วราเทพ"นั่งรมต.

 


มองต่างมุม"วราเทพ"นั่งรมต.


มองต่างมุม
วันที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 8009 ข่าวสดรายวัน


มองต่างมุม"วราเทพ"นั่งรมต.


รายงานพิเศษ


กลายเป็นประเด็นถกเถียง สำหรับการแต่งตั้ง นายวราเทพ รัตนากร เป็นรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี



เมื่อ นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา สมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. เปิดประเด็น นายวราเทพอาจมีคุณสมบัติต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี



เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาคดีหวยบนดิน ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยให้รอลงอาญา



ขณะที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 174(5) ระบุ รัฐมนตรีต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมาไม่ถึง 5 ปี ก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ



แต่ความเห็นดังกล่าว ยังมีคนมองต่างมุม



กรณีนายวราเทพ โทษจำคุกเป็นโทษรอลงอาญา ขณะที่ มาตรา 102 (4) ระบุ ต้องถูกคุมขังโดยหมายศาล จึงไม่น่าจะเข้าข่ายมาตรา 174(5)



อีกทั้งกรณีนี้ยังเป็นเคสเดียวกับกรณี นายเนวิน ชิดชอบ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า การรอลงโทษ ไม่ใช่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก



มีความเห็นจากนักวิชาการในประเด็นดังกล่าว



นิรันดร์ ประดิษฐกุล

ส.ว.สรรหา อดีตผู้เชี่ยวชาญประจำศาลรัฐธรรมนูญ



กรณีคุณสมบัติของนายวราเทพ ที่เคยถูกตัดสินจำคุกคดีหวยบนดิน แต่ศาลให้รอลง อาญา 2 ปี อาจนำไปเทียบเคียงกับคำพิพากษาของนายเนวิน ต่อการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อปี 2542



เหมือนดังที่โฆษกศาลรัฐ ธรรมนูญเคยออกมาให้ความเห็นได้ เนื่องจากมีประเด็นที่คล้ายกัน



เพราะในทางกฎหมายการตัดสินให้รอลงอาญาเท่ากับว่ายังไม่ติดคุก จึงไม่เข้าข่ายต่อมาตรา 174 (5) แต่ก็ต้องลงไปดูในรายละเอียดของคดีด้วยเช่นกันว่าเหมือนกันทั้งหมดหรือไม่



หากเหมือนกันทั้งหมด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็คงจะใช้คำพิพากษาของนายเนวิน เป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยกรณีของนายวราเทพ เนื่องจากในวงการตุลาการมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำต่อกันมา เท่ากับว่านายวราเทพก็จะหลุดจากข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติ



ส่วนที่มีการมองว่าทั้งสองกรณีเกิดขึ้นระหว่างการบังคับใช้รัฐธรรมนูญคนละฉบับคือ ปี 2540 และ ปี 2550 ตรงนี้ยังไม่แน่ใจว่าหลักใหญ่ใจความของรัฐ ธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ นั้นเหมือนกันหรือไม่ ถ้าเหมือน กันก็เป็นที่แน่นอนว่าบรรทัด ฐานการตัดสินยิ่งต้องไปในทิศทางเดียวกัน



นอกจากนี้ การนำประ เด็นดังกล่าวไปเชื่อมโยงกับมาตรา 182(3) ว่าด้วยเรื่องการสิ้นสุดของรัฐมนตรี ก็ไม่น่าจะนำมาเทียบเคียงได้



เนื่องจากครม.ยิ่งลักษณ์ 3 อยู่ในขั้นเพียงโปรดเกล้าฯ แต่ยังไม่ได้มีการรับรองสัตยาบัน



เท่ากับว่าสถานการณ์เป็นรัฐมนตรียังเกิดขึ้นไม่สมบูรณ์นั่นเอง





เสรี สุวรรณภานนท์

อดีตรองประธานส.ส.ร. 50



พูดให้เข้าใจง่ายเลย รัฐธรรมนูญแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ ชัดเจน ระหว่างบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่ง กับบุคคลที่อยู่ในตำแหน่ง



นายวราเทพ เป็นบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี ตามมาตรา 174 ว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี



แต่สำหรับบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งและต้องพ้นออก จึงจะเป็นไปตามมาตรา 182 คือการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี



ดังนั้น เมื่อดูมาตรา 174 (5) ที่ระบุว่า "ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี ก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ"



นายวราเทพโดนโทษจำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา ตั้งแต่ปี 2552 ในคดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง



เราอย่าไปตีความให้ยุ่งยาก



ที่มองว่ายกเว้นโทษเฉพาะความผิดเล็กน้อย หมายความว่า ถึงแม้ศาลจะสั่งจำคุกแต่ถือว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดก็ยังได้รับการยกเว้นอยู่ ซึ่งบุคคลที่จะเข้าข่ายโทษมาตรานี้จึงจะต้องถูกจำคุกมาแล้วเท่านั้น แต่นายวราเทพมีติ่งดีตรงที่รอเว้นโทษ



กฎหมายยังให้เรามองเชื่อมโยงกับมาตรา 102 (4) ด้วย ซึ่งตีความการจำคุก เช่นกันว่า "ต้องคำพิพากษาให้ จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล" จึงจะถือว่าเป็นลักษณะบุคคลต้องห้ามเข้ารับตำแหน่ง



ในทางกลับกัน หากได้รับโทษถึงแม้จะรอลงอาญา แต่ถ้าอยู่ระหว่างนั่งเป็นรัฐมนตรี ก็ต้องออกจากตำแหน่งอย่างเด็ดขาดตามมาตรา 182 (3)



ประเด็นการพ้นของรัฐมนตรีเป็นปัญหามาตลอดในอดีต จนกระทั่งการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ส.ส.ร.จึงปรับแก้ไข แบ่งแยกการมา การไป ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน



ไม่เว้นแม้แต่ชาวบ้านก็ยังเข้าใจคำว่า จำคุก ในทางประมวลกฎหมายอาญาเลยว่าเป็นการเอาตัวไปคุมขังไว้ในเรือนจำ ตามกำหนดเวลาที่ศาลพิพากษา ซึ่งมีบรรทัด ฐานมายาวนานกันเป็นร้อยๆ ปีแล้ว หลักทฤษฎีเหมือนเดิม แต่การนำไปใช้ของคนกลับพยายามพลิกแพลงกันเอง



ผมไม่อยากก้าวล่วงความคิดเห็นบุคคลอื่นที่คิดต่าง แต่ขอว่าอย่ายึดอารมณ์ตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วใช้กฎหมายไปในทางที่ผิดๆ





ตระกูล มีชัย

ภาควิชาการปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬาฯ



ถ้ามีปัญหาก็ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่กระบวนการที่เดินไป ปัญหามีว่า 1. ระหว่างที่ส่งศาลฯ มีการโปรดเกล้าฯ มาแล้ว 2. ต้องรอการถวายสัตย์ปฏิญาณตน



ระหว่างรอคำวินิจฉัยศาลฯ ในเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีแล้ว ก็ต้องให้เป็นไปตามขั้นตอน คือหลังถวายสัตย์ก็ทำงานไป แต่หลังศาลฯวินิจฉัย ศาลฯ เห็นว่าอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น เรื่องจะได้จบ



การตีความเรื่องนี้มองได้ 2 มุม คือมองว่าเป็นแบบเดียวกับกรณีของนายเนวิน ที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์เคยพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน โดยให้รอลงอาญา 1 ปี



ซึ่งศาลฯ ชุดก่อน (นายเชาวน์ สายเชื้อ เป็นประธาน) วินิจฉัยว่า การรอลงโทษไม่ใช่เป็นการต้องคำพิพากษาให้จำคุก กรณีของนายเนวิน จึงไม่ถือว่าต้องคำพิพากษาให้จำคุกตามความหมายของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาตรา 216 (4) ความเป็น รัฐมนตรีของนายเนวิน จึงยังไม่สิ้นสุดลง



แต่กรณีนายเนวินที่เกิดขึ้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2540 ขณะที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 มีการเพิ่มเติมบางอย่าง และตอนร่างก็มีการพูดถึงประเด็นความเป็นผ้าขาวของรัฐมนตรี



กรณีของนายเนวิน มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากเรื่องเจตนา รมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการรัฐมนตรีที่เป็นผ้าขาว ต้องการให้รัฐมนตรีเป็นบุคคลพิเศษเหนือบุคคลอื่น



ซึ่งหลักการนี้ผมว่านักวิชาการต่างยอมรับ ตอนวินิจฉัยกรณีนายเนวิน ผม นักวิชาการรัฐศาสตร์ หรือ นายธงทอง จันทรางศุ ก็วิพากษ์วิจารณ์



รัฐธรรมนูญต่างฉบับ องค์คณะตุลาการที่ต่างกัน และไม่ได้หมายความว่าคำวินิจฉัยครั้งแรกของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นบรรดาทัดฐานเหมือนกับคำตัดสินของศาลฎีกา ดังนั้นเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องส่งศาลฯ วินิจฉัย



เพื่อความบริสุทธิ์ใจรัฐบาลน่าจะทำเรื่องส่งศาลฯเอง ศาลฯเห็นอย่างไรเรื่องจะได้จบ



คนที่แสดงความเห็นก็ต่างตีความรัฐธรรมนูญไปบนความคิดและความเชื่อของตัวเอง ถ้าโต้กันไปมาการตีความได้หลายนัยยะ รัฐบาลเองก็บอกตรวจสอบแล้วจึงนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ



จึงน่าจะส่งศาลฯตีความ


หน้า 3



// //
Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.