ประเมินพลังม็อบไล่รัฐบาล

 


ประเมินพลังม็อบไล่รัฐบาล


ประเมินพลังม็อบไล่รัฐบาล
วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 8008 ข่าวสดรายวัน


ประเมินพลังม็อบไล่รัฐบาล


คอลัมน์ รายงานพิเศษ



ม็อบขับไล่รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม และภาคีเครือข่าย ประกาศนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งเดือนพ.ย. หลังจากรวมพลจุดกระแสครั้งแรกที่สนามม้านางเลิ้ง เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

-(1)พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์

ส.ว.สรรหา


คิดว่าไม่น่าจะปรากฏการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามได้ทันที

เพราะกลุ่มเหล่านี้ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนที่จะตอบประชาชนได้ว่า ถ้ารัฐบาลยอมก้าวลงมาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป รัฐธรรมนูญ เดิมจะยังมีอยู่หรือไม่ อย่างไร

กลุ่มผู้สนับสนุนเองก็ยังมีอำนาจจำกัด และยังเป็นกลุ่มที่ไม่แน่ชัด จึงยังไม่น่าเปลี่ยนแปลงประเทศอะไรได้มากมาย เพราะอย่างสมัยการชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่มนปช.ยังต้องใช้เวลา 2-3 เดือนเลย

ดังนั้น ต้องใช้เวลาอีกสักพักจึงจะปรากฏได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกหรือไม่

แต่เชื่อว่าการนัดชุมนุมใหญ่ในช่วงนี้ไม่น่าเป็นไปได้ ยังเร็วเกินไปในการใช้เวลาเตรียมการ เป็นไปไม่ได้ที่จะมีโอกาสกดดันรัฐบาลมาก

และด้วยเหตุผลจำนวนผู้ชุมนุมก็ไม่เข้าทาง นอกจากมีอะไรเป็นประเด็นชัดเจนที่เกิดจากความผิดพลาดของรัฐบาลเอง

อยากให้เข้าใจว่า ไม่มีการกดดันของขบวนการใดๆ ที่ทำให้รัฐบาลลาออกได้มาตั้งแต่สมัยรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนกระทั่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อย่างไรก็ตาม อยากฝากข้อคิดไปถึงกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามว่า พวกคุณดำเนินการอะไรไปตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์ ขอให้ใจเย็นๆ รอให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีมูลประเด็นอะไรที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนก่อนแล้วค่อยเคลื่อนไหว ก็ยังไม่สาย

ไม่ใช่อ้าง 3 ประเด็นการเคลื่อนไหวจะล้มรัฐบาลให้ได้ ทั้งที่รัฐบาลยังไม่ได้ชี้แจงอะไรเลย เหมือนเป็นผู้ถูกกล่าวหาแต่ยังไม่มีการพิสูจน์อะไรเลย แล้วทำไมรัฐบาลจะไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้

ขณะเดียวกัน อยากเตือนรัฐบาลให้มองการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นสัญญาณ โดยระมัดระวังตัวให้มากขึ้น การเดินหน้ารัฐธรรมนูญลงมติวาระ 3 พ.ร.บ.ปรองดอง น่าจะชะลอไว้ก่อน รวมถึงเรื่องร้อนต่างๆ ก็อย่าเพิ่งรีบร้อน

เพราะถึงแม้ข้ออ้างการรวมตัวของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามยังฟังไม่ขึ้น แต่รัฐบาลเองอาจเป็นผู้จุดประกายไฟให้กลุ่มขับไล่รัฐบาลเกิดการรวมตัวได้ง่ายขึ้น

ทั้งที่สถานการณ์การรวมตัวที่ผ่านมา เป็นเพียงการลองพลังเท่านั้น



-(2)พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


ม็อบครั้งนี้จะสามารถล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับทัศนคติและการจัดการของรัฐบาลต่อม็อบ

รวมถึงท่าทีของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บํารุง รองนายกฯ ในการออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการชุมนุม

โดยรัฐบาลไม่ควรมองม็อบเป็นม็อบ แต่ควรมองว่าเป็นคำถามจากประชาชน การไม่ตอบคำถามยิ่งทำให้ประชาชนสงสัย เมื่อประชาชนข้องใจก็ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง

ซึ่งจากการชุมนุมที่ผ่านมาสะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีคนดูแลและรับมือกับเรื่องนี้โดยตรง ถือเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ จึงควรให้ความสำคัญกับกองโฆษกซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการตอบคำถามและชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ที่ประชาชนถาม

ไม่ควรปล่อยให้ร.ต.อ.เฉลิมออกมาตอบโต้ม็อบ เพราะบุคลิกเป็นคนดุดัน มีทั้งคนชื่นชอบและไม่ชอบ

การออกมาโจมตีม็อบจะกลายเป็นการยั่วยุ ทำให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลและมาเข้าร่วมมากขึ้น

จึงไม่ควรให้ร.ต.อ.เฉลิมไปชนกับม็อบ แต่หากยังปล่อยให้ร.ต.อ.เฉลิมเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ รัฐบาลเตรียมนับถอยหลังได้เลย

นอกจากนี้ ไม่ว่าการทำงานของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์จะมีปัญหามากหรือน้อยก็ตาม ประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะสงสัยและถามได้ตลอดเวลา เพราะการชุมนุมถือเป็นสิทธิ์ตามระบอบประชาธิปไตย

การชุมนุมที่ผ่านมาต้องถือว่าเป็นม็อบที่สุภาพ เพราะชุมนุมในที่ปิด ง่ายต่อการควบคุมดูแล และไม่ยืดเยื้อ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนที่มาชุมนุมไม่ต้องการใช้ความรุนแรง ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี

ฉะนั้น หน้าที่ของรัฐบาลคือการดูแลความรู้สึกประชาชน และมีหน้าที่ต้องชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ที่ประชาชนกังขา ไม่ว่าจะเป็นเพียงเสียงส่วนน้อยหรือฝ่ายต่อต้านที่มีความเห็นต่าง

รัฐบาลต้องพร้อมชี้แจงตลอด ไม่เฉพาะในสภาเท่านั้น

ม็อบขับไล่รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม และภาคีเครือข่าย ประกาศนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งเดือนพ.ย. หลังจากรวมพลจุดกระแสครั้งแรกที่สนามม้านางเลิ้ง เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

การเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสมหรือไม่เพียงใด และมีพลังมากพอที่จะล้มรัฐบาลได้ตามเป้าหมายของแกนนำหรือไม่

มีความเห็นจากผู้ติดตามสถานการณ์ดังต่อไปนี้



-(3)สมบัติ บุญงามอนงค์

แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง


การชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มีพล.อ. บุญเลิศเป็นแกนนำที่ผ่านมาเป็นเพียงการทดสอบกำลังว่ามีประชาชนให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน

ซึ่งเขาน่าจะกลับมาใหม่และสะสมกำลังไปเรื่อยๆ โดยค่อยๆ สื่อสารและส่งสัญญาณไปถึงประชาชน

หากมีประชาชนสนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจบรรลุเป้าหมาย

แต่หากไม่สำเร็จ นั่นหมายความว่าวิธีการแก้ปัญหาที่ม็อบนำเสนอยังไม่เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับปัญหามากพอ

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมครั้งนี้ค่อนข้างฝืด ไม่น่าจะไปรอด คงไม่มีผลต่อเนื่องแต่อย่างใด เท่าที่ดูการเคลื่อนไหวของม็อบค่อนข้างทะเล่อทะล่า

ประเด็นที่หยิบมาพูดก็เป็นเรื่องเก่า เช่น ข้อเสนอที่ให้ผู้ใหญ่บ้านและกำนันมาจากการแต่งตั้ง เพราะการเลือกตั้งทำให้เกิดปัญหาการซื้อสิทธิ์-ขายเสียง

ซึ่งประเด็นนี้มันไม่ควรหยิบมาถกเถียงกันแล้ว

หรือการบอกว่าจะปิดประเทศ 5 ปี ซึ่งแนวทางแบบนี้สังคมไม่น่าจะเห็นด้วย ไม่น่าทำให้เกิดกระแสล้มรัฐบาลขึ้นได้

ส่วนตัวมองว่าม็อบน่าจะประสบความสำเร็จกว่านี้หากยังไม่เปิดตัวอย่างชัดเจนว่าจะล้มรัฐบาล

แต่ค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจเปิดเป็นเวทีอภิปรายไปก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้ในสภาจะมีวุฒิสภาจำนวนหนึ่งคอยตรวจสอบรัฐบาลอยู่ แต่การชุมนุมของม็อบต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่มีได้

เพราะบางครั้งประชาชนมีเรื่องอึดอัด อยากนำเสนอ สังคมก็ต้องมีพื้นที่ให้เขา

อีกทั้งม็อบดังกล่าวก็ไปจัดในสนามม้า ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดปัญหารถติด ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรต่อสังคม

สำหรับข้อกล่าวหาที่อ้างว่าเป็นรัฐบาลนอมินี จาบจ้วงสถาบัน และคอร์รัปชั่นนั้น เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้เกิดกระแส โดยหวังจะเป็นชนวนให้ทหารออกมาเคลื่อน ไหวหรือรัฐประหาร

ซึ่งเขาอาจอ้างว่าเป็นการปฏิวัติประชาชน

หากม็อบอยากล้มรัฐบาลชุดนี้ ยังมีเวลาอีกหลายปีที่จะเตรียมการเพื่อไปสู้กันในระบบ ในเวทีเลือกตั้งดีกว่า

เพราะมันมีกลไกการจัดการของมันอยู่


หน้า 3



// //
Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.