หลากมุมมองทัพใหม่"ครม.ปู 3"

 


หลากมุมมองทัพใหม่"ครม.ปู 3"


หลากมุมมองทัพใหม่
วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 8006 ข่าวสดรายวัน


หลากมุมมองทัพใหม่"ครม.ปู 3"


คอลัมน์ รายงานพิเศษ


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จัดการยกเครื่องครม.เรียบร้อยแล้ว โดยปรับใหญ่ 20 กว่าตำแหน่ง ตามรายชื่อที่ปรากฏมีทั้งคนในพรรคเพื่อไทย คนนอก สมาชิกบ้าน 111 ตลอดจนพรรคร่วมรัฐบาล

นักวิชาการและผู้ติดตามสถานการณ์การเมืองมีความคิดเห็นอย่างไรกับ "ครม.ปู 3"



ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์


การปรับครั้งใหญ่นี้แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวการทำงานของรัฐบาล ให้เหมือนกับสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ที่สามารถปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีได้ตามสะดวก และจะปรับเมื่อไรก็ได้

เพราะทุกรัฐมนตรีจะสามารถดำเนินงานได้ตามกรอบนโยบายของรัฐบาล

อีกมุมหนึ่งจะสะท้อนว่า รัฐบาลชุดนี้มีอำนาจอยู่ในมือ มีการสร้างเครือข่ายทางการเมือง การปรับชุดใหญ่ขนาดนี้จะไม่ส่งผลต่อแรงกระเพื่อมทางการเมืองอย่างแน่นอน ซึ่งรัฐบาลอื่นไม่สามารถทำได้

เช่น รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะมีตัวเลือกน้อย บุคลากรน้อย หากปรับเปลี่ยนครม.ชุดใหญ่ น่าจะเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองได้

กระทรวงที่ผมเห็นว่าสมควรและน่าจะดีขึ้น คือ กระทรวงคมนาคมและกระทรวงสาธารณสุข

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จาก รมช.คมนาคม ขึ้นเป็น รมว.คมนาคม น่าจะทำงานสานต่อด้านนโยบายได้ดี ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยในเรื่องการทุจริต

ส่วนนพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ ที่จะมานั่งรมว.สาธารณสุข แม้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนักในทางการเมือง แต่โดยตำแหน่งหน้าที่ การศึกษา และการที่เคยเป็นผู้กำหนดนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว น่าจะสานต่อนโยบายได้ดีเช่นกัน

กระทรวงที่ผมกังวลและแปลกใจว่าทำไมยังไม่มีการปรับเปลี่ยน คือ กระทรวงพาณิชย์ เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจโลกย่ำแย่มาก ปัญหาการว่างงานที่หลายประเทศกำลังเผชิญ ขณะที่ประเทศไทยยังมียอดเศรษฐกิจที่ไม่ดีมากนัก

จึงควรมีทีมเศรษฐกิจที่สามารถรับมือปัญหาเศรษฐกิจโลกได้ดีกว่านี้

การปรับครม.ครั้งนี้ แม้จะมีปรับเปลี่ยนในหลายตำแหน่ง แต่เชื่อว่าการบริหารงานจะไม่มีปัญหา เพราะทุกรัฐมนตรีจะต้องดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายเดิม

เพียงแต่ต้องใช้เวลา 1-2 เดือน ในการจูนกับข้าราชการประจำกระทรวง เพื่อลดการเตะถ่วงในการดำเนินงาน การชะลองานจะลดน้อยลง

การปรับครม.ครั้งนี้ไม่สำคัญว่าใครจะอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะคนที่ต้องรับผิดชอบคือนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จึงไม่ใช่โจทย์สำคัญทางการเมือง

และการนำอดีตรมต.ในยุคพ.ต.ท.ทักษิณมาร่วมดำเนินงานด้วยก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะสามารถนำข้อผิดพลาดของคณะรัฐมนตรีในการบริหารงานครั้งก่อนมาปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้น



สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

นักเศรษฐศาสตร์และการเมือง


เป้าหมายหลักๆ ของการปรับครั้งนี้มี 2 ประการ ประการที่หนึ่ง เพื่อลดแรงกดดันภายนอก ทั้งปัญหาเรื่องนโยบายรับจำนำข้าว และการที่เริ่มมีคนชุมนุมต่อต้านรัฐบาล

ประการสอง การที่สมาชิกบ้าน 111 พ้นโทษทางการเมืองแล้ว ทำให้ต้องปรับสถานการณ์ใหม่ รัฐบาลต้องเอาใจกลุ่มต่างๆ ภายในพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกลุ่มบ้าน 111 ซึ่งเคยมีอิทธิพลมาก่อนและทุกวันนี้ก็ยังมีอิทธิพลอยู่

นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยยังมีกลุ่มต่างๆ อีกมาก ดังนั้นอย่าแปลกใจ ทุกระยะต้องมีการปรับเปลี่ยน ครม. เพื่อปลอบใจกลุ่มต่างๆ ว่าครั้งนี้ไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ครั้งหน้าก็ต้องได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า การปรับครั้งนี้รัฐบาลไม่ได้สนใจว่าบุคคลภายนอกจะโจมตีอย่างไร แต่เป็นการปรับตามดัชนีชี้วัดเชิงกลยุทธ์ (เคพีไอ) คือดูว่ากระทรวงนั้นๆ ดำเนินการได้ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้หรือไม่

จะเห็นได้ว่ากระทรวงด้านเศรษฐกิจไม่ค่อยมีการปรับเปลี่ยน เพราะมีดัชนีเคพีไอในทิศทางที่ดี แต่กระทรวงที่ถูกปรับเป็นกระทรวงที่ไม่ค่อยมีบทบาท เช่น การปรับนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช ออกจาก รมว.ศึกษาธิการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ขอวิจารณ์รัฐมนตรีใหม่เป็นรายบุคคล เพราะเห็นแล้วว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญเลยว่า คนนอกจะคิดอย่างไร แต่เป็นการปรับเพื่อลดแรงกดดันภายในมากกว่า

ส่วนบางกระทรวงที่ถูกโละออก ทั้งรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งบางคนกังวลว่าจะทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่องนั้น

ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา คนที่ถูกปรับออกไปสามารถเล่นละครได้หลายบทบาทอยู่แล้ว หลังจากนี้อาจเปลี่ยนไปเล่นบทบาทอื่นต่อ

สิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำ คือพยายามรักษาเอกภาพของพรรคไว้ไม่ให้แตกแยก และให้กลุ่มต่างๆ อยู่ร่วมกันได้

ในส่วนของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของคนเสื้อแดงก็ยังมีความหมายต่อรัฐบาลอยู่ บางคนอาจตั้งข้อสังเกตว่าการที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดในการปรับครม.ครั้งนี้

จะเกิดแรงกระเพื่อมจากคนเสื้อแดงตามมาหรือไม่

ในทางตรงกันข้ามต้องคิดด้วยว่า ถ้านายณัฐวุฒิได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งขึ้นมา แล้วนายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งไม่ได้ตำแหน่งอะไรเลย จะรู้สึกอย่างไร

โดยสรุปแล้วการปรับครม.ปู 3 เป็นเรื่องปกติ และเชื่อว่าจะมีการปรับอีกหลายครั้งหลังจากนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในขณะนั้น

และปรับให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลสวยงามขึ้น



นิคม ไวยรัชพานิช

ประธานวุฒิสภา


เท่าที่ดูรายชื่อในการปรับครั้งนี้ ถือว่านายกฯ เลือกคนได้ตรงตามความรู้ความสามารถ แม้อาจจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าเลือกใช้คนได้ถูกต้อง

เช่น นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรรณ รมว.คมนาคม ที่มีโผจะมานั่งรมว.มหาดไทย ถือเป็นลูกหม้อมหาดไทย เติบโตมาจากสายนี้โดยตรง

เชื่อว่าการเลือกคนทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายได้ จะทำให้การบริหารงานดีขึ้น และไม่เป็นเป้าโจมตีของฝ่ายค้านได้ง่าย เช่น รมว.สาธารณสุขคนใหม่ แม้จะเป็นบุคคลที่ไม่มีชื่อเสียงมากนัก แต่ก็เป็นหมอในเมือง เติบโตมาตามสาย

เช่นเดียวกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ที่คาดว่าจะมานั่ง รมช.สาธารณสุข ก็เคยทำงานในพื้นที่หมอชนบทมาก่อน เชื่อว่าทั้งคู่จะสามารถทำตามนโยบายที่เข้าถึงประชาชนร่วมกันได้เป็นอย่างดี

และการปรับครม.ครั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีหน้าใหม่มาช่วยงาน เช่น นายประเสริฐ จันทรรวงทอง นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร และนายประชา ประสพดี เป็นต้น

ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็เล็งกันว่าจะมานั่ง รมช.พาณิชย์ ซึ่งเป็นตำแหน่งโควตา คาดว่าน่าจะปรับตัวการทำงานได้

แต่ยังสงสัยกรณีนายวิทยา บุรณศิริ ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทและทำงานดีในตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข แต่ทำไมถึงหลุดจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม การปรับยกชุดของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข นายกฯ คงมีเหตุผลเพื่อให้งานเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่กระทรวงไหนที่ดีอยู่แล้วก็ให้ดีต่อไป

เชื่อว่าการปรับครั้งนี้ นายกฯ มีประสบการณ์มา 1 ปีกว่า สภาวะผู้นำและการคิดอะไรย่อมดีขึ้น จะเห็นได้ว่านายกฯ เป็นแม่งาน โดยไม่มีมือผู้ชายมาเกี่ยวข้องมากนัก

และคิดว่าถ้าพัฒนาการบริหารเพื่อประชาชนอย่างนี้ พร้อมกับระวังเรื่องการทุจริตให้มีแต่ความโปร่งใส รัฐบาลจะอยู่ได้นาน


หน้า 3



// //
Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.