เด็กไทยรักการอ่าน เกินปีละ 8 บรรทัด
 


เด็กไทยรักการอ่าน เกินปีละ 8 บรรทัด


เด็กไทยรักการอ่าน เกินปีละ 8 บรรทัด

“คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” เป็นข้อมูลที่สะท้อนอะไรๆ ได้หลายอย่าง

แต่ก็ใช่ว่าสถิตินี้จะเหมารวมคนไทยทุกคน ไกลจากกรุงเทพฯ ไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่าหกร้อยกิโลเมตร “ยโสธร” นครแห่งบั้งไฟ กำลังมีปรากฏการณ์แห่ง “การอ่าน” ที่น่าตื่นตาตื่นใจเกิดขึ้น

เราเริ่มต้นกันที่งานวิจัยเรื่อง “การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง กรณีศึกษา : ตำบลน้ำคำ อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร” ในช่วงปี 2553-2554 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว.

นรรถฐิยา  ผลขาว  นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หนองคูน้อย แกนนำและผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการอ่าน เล่าถึงที่มาที่ไป

นรรถฐิยาในฐานะเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย จึงพัฒนาโจทย์จากความสนใจของทีมนักวิจัยที่ทุกคนสนใจเรื่องการอ่านและทำงานกับเด็กและเยาวชน ประกอบกับการได้อ่านหนังสือเรื่อง “มหัศจรรย์แห่งการอ่าน” (เขียนโดย เมม ฟ็อกซ์ แปลเป็นไทยโดย รวิวาร โฉมเฉลา) ซึ่งเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็กโดยตรง

“ใครๆ ก็ชอบพูดกันว่า ประเทศไทยเป็นวัฒนธรรมของการบอกเล่าไม่ใช่วัฒนธรรมของการอ่าน ก็คุยกับทีมของเราที่สนใจเรื่องการอ่าน ว่าน่าจะลองทำดู เราถอดบทเรียนโดยกำหนดอายุเด็กช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี ตอนแรกเปิดให้ผู้ปกครองมาสมัคร ก็ไม่ค่อยมีคนสนใจ...”

คิดไปคิดมาก็เลยใช้วิธีให้ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) เข้าร่วมด้วย แล้วก็ไปชักชวนด้วย จึงได้ครอบครัวมาร่วมโครงการเกือบร้อยครอบครัวจากพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดยโสธร

จากการถอดบทเรียนและผลการวิจัยปรากฏว่า บางครอบครัวใช้เวลาแค่เดือนเดียว เด็กก็ติดหนังสือแล้ว บางคนไม่อ่านหนังสือให้ฟังก็ไม่ยอมนอน คือถามว่าเด็กเข้าใจเนื้อหามั้ย ก็คงจะไม่เข้าใจ แต่มันก็มีทฤษฎีทางสมองรองรับว่าช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี เป็นช่วงที่สมองเจริญเติบโตมากที่สุด

“ถ้าได้รับการกระตุ้นในช่วงนี้มันก็จะมีผลอย่างมากเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การอ่านหนังสือให้เด็กฟังซ้ำๆ บ่อยๆ เป็นประจำจะเป็นการเพิ่มรอยหยักของสมอง เพิ่มไอคิว เพิ่มอีคิว ทุกอย่างเลย”

น่าดีใจว่า...ผลที่ได้รับ เกือบทุกราย เด็กจะมีพัฒนาการที่ชัดเจน มีความจำดีมาก จากเด็กซนก็มีสมาธิมากขึ้น รู้จักการสังเกต มีความละเอียด ซึ่งเป็นผลจากการอ่านหนังสือให้ฟังเป็นประจำของพ่อแม่ผู้ปกครองและไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงก่อนนอน  แต่เป็นเวลาที่สะดวกและมีความสม่ำเสมอ

“แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ผลลัพธ์เหมือนกัน เพราะระดับของพัฒนาการของเด็กก็มีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งพันธุกรรม สภาพแวดล้อม การเอาใจใส่ ของผู้ปกครอง”

เมื่อไปสอบถามผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการ ก็สอดคล้องกับผลวิจัยที่ได้รับ นวลใย เค็งงอก อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำหลานเข้าร่วมโครงการ เล่าว่า  เธอเป็นคนชอบอ่านหนังสือ  แม้ว่าจะต้องทำไร่ ทำนา ทำงานบ้าน แต่ก็พยายามที่จะหาเวลาอ่านหนังสือให้หลานฟังตลอด

“ตอนนี้หลานสาววัย 3 ขวบ ก็เป็นเด็กที่ชอบหนังสือ มีพัฒนาการที่ดี และเป็นตัวอย่างให้ผู้ปกครองคนอื่นๆ เห็นคุณค่าของการอ่านหนังสือให้ลูกหลานฟัง”

นวลใย บอกว่า  ตัวยายเองมีความสนใจเรื่องการอ่านอยู่แล้ว ตอนนั้น ลูกสาวก็เพิ่งจะคลอดน้องข้าวฟ่าง (หลานสาว) แล้ว รพ.สต.หนองคูน้อย มีโครงการเรื่องการอ่าน ยายก็มาเข้าโครงการ คือน้องจะร้องไห้เก่ง แต่พอยายอ่านหนังสือให้ฟังเขาก็จะเงียบ ก็เลยอ่านให้เขาฟังมาตลอด

“เขาจะชอบให้เราอ่านหนังสือให้ฟัง ก่อนนอนก็ต้องอ่าน ขึ้นรถมาด้วยกันก็ต้องอ่าน เขาจะรู้เลยว่าเล่มไหนเรื่องอะไร ถึงแม้ว่าเขาจะยังอ่านหนังสือไม่ได้ แต่เขาจะดูรูปและเขาจะจำจากที่เราอ่านให้ฟัง คือตัวยายเองก็เป็น อสม.ด้วย ก็เลยพยายามแนะนำเพื่อนๆว่าโครงการนี้ดีจริงๆนะ”

นวลใยยอมรับว่าไม่ได้มีเวลามากมายอะไรนัก ทั้งต้องทำงานบ้าน ทำไร่ ทำนา...ซึ่งก็เหมือนกับคนอื่นๆ แถมเรียนจบแค่ ป.6 แต่ก็พยายามหาเวลาอ่านหนังสือให้หลานฟัง ให้คนอื่นเขาได้เห็นว่า  เราทุ่มเทเพราะอยากให้หลานเป็นคนดี

“คนอื่นพอเห็นน้องข้าวฟ่างเป็นเด็กฉลาด...รักหนังสือ  เขาก็เข้าใจ เกิดการเปรียบเทียบที่ชัดเจน พอไปเข้าโรงเรียน คุณครูก็จะบอกว่า เขาเป็นเด็กที่ฉลาด หัวไว เข้าสังคมกับครูกับเพื่อนได้ดี  ถึงตอนนี้ครอบครัวในชุมชนก็เหลือน้อยมากแล้ว ที่ไม่ได้อ่านหนังสือให้ลูกฟัง”

ครรชิต จักรสาร นักวิชาการสาธารณสุข รพ.สต.สร้างมิ่ง หนึ่งในทีมวิจัยและได้นำวิธีการอ่านหนังสือให้เด็กฟังมาใช้กับบุตรสาวคนเล็กของตนเอง เสริมว่า เมื่อก่อนชอบดูหนังมาก ไม่ชอบอ่านหนังสือเลย พอมีลูกคนแรกก็จะเลี้ยงลูกด้วยการดูหนัง  เวลาทำงานก็เปิดหนังให้ลูกดู แผ่นหนังที่บ้านมีเป็นร้อยๆแผ่น

“พอลูกเข้าอนุบาลก็พบว่า ลูกเป็นเด็กสมาธิสั้นมาก ทำการบ้านก็ จะรีบๆ ลวกๆ ทำให้เสร็จเร็วๆ เพื่อมาดูหนังหรือมาเล่นเกม เมื่อมีลูกคนที่ 2 จึงตั้งใจว่า จะพยายามให้ลูกเป็นเด็กที่รักการอ่าน”

ครรชิต บอกว่า ลูกคนโตของผม ตอนนั้นเขาไม่อ่านหนังสือเลย เราก็หนักใจ  เราจะทำให้เขามาสนใจหนังสือมันก็ยากแล้ว ไม่รู้จะแก้ยังไง ทีนี้ตอนนั้นคนที่ 2 ยังอยู่ในท้อง ก็ตั้งใจว่าจะปลูกฝังเรื่องการอ่านให้คนเล็กนี่แหละ พอเขาคลอดออกมา ได้หนังสือมา 3 เล่ม ก็เอามาอ่านให้เขาฟังเลย

“ครั้งแรกที่อ่านหนังสือให้เขาฟังตอนนั้นเขายังกินนมอยู่ แฟนผมบอกว่า รู้สึกว่าเขากำลังฟัง เราอ่านจบหน้าเขาก็หยุดดูดนม พอเราพลิกหน้าต่อไป เขาก็เริ่มดูดนมต่อ คือสังเกตได้ชัดเลยว่า เขากำลังฟังเราอ่านหนังสือ พยาบาลเห็นผมอ่านหนังสือให้ลูกฟังก็หัวเราะ แม่ผมก็สงสัยว่าเด็กจะรู้เรื่องได้ยังไง”

ความจริง  เด็กเขารับรู้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้ว  ครรชิตอ่านหนังสือให้ลูกคนเล็กฟังมาตลอด อ่านทุกครั้งที่มีเวลา บางเรื่องเราอ่านจนจำได้แล้ว เวลาลูกอาบน้ำแต่งตัวเราก็เล่าไปได้เลย อย่างหนังสือเรื่อง “ผลไม้อร่อย” ...อ่านเป็นสิบๆรอบ ลูกจะชอบมาก อ่านแล้วอ่านอีก เขาไม่เบื่อที่จะฟังและเขาจะรับได้แบบไม่มีจำกัด

มีอยู่วันหนึ่ง ครรชิตเคยทำสถิติอ่านหนังสือให้ลูกฟังไปร้อยกว่าเรื่อง เหนื่อยก็นอน ตื่นมาเราก็อ่านให้เขาฟัง อ่านจนเราเจ็บคอ เขาก็ยังรับได้สบายๆ เขาจะติดหนังสือและจำแม่นมาก  ถ้าพาเข้าไปร้านหนังสือเขาจะอยู่ได้เป็นชั่วโมงๆ ตอนนี้เข้าอนุบาล 3 มีพัฒนาการที่ดีกว่าเพื่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด

ปัญหาสำคัญของนิสัยรักการอ่านของเด็กคือทัศนคติผู้ปกครอง นอกจากนี้ ครรชิตยังมองว่าโมเดลส่งเสริมการอ่านที่ประสบความสำเร็จ ควรจะได้รับการสื่อสารออกไปหลายๆโมเดล ที่สำคัญต้องมีหนังสือที่หลากหลายและเพียงพอ เพราะปัญหาสำคัญคือ เมื่อมีคนอ่านหนังสือมากขึ้น แต่ในชุมชนกลับมีหนังสือน้อยมาก คนจึงเข้าไม่ถึงหนังสือ ห้องสมุดประชาชนอำเภอ...จังหวัดก็ไม่มีหนังสือที่น่าสนใจ ทำให้ไม่ค่อยมีคนเข้าไปใช้บริการ

ขณะที่ประเทศไทยมีงานขายหนังสือระดับชาติปีละ 2 ครั้ง และเทศกาลขายหนังสือย่อยๆอีกปีละหลายครั้ง มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจหนังสือปีละนับหมื่นๆล้านบาท จึงดูเหมือนว่า สังคมไทยอ่านหนังสือกันไม่น้อยเลย แต่อีกด้านหนึ่งการส่งเสริมเรื่องการอ่านในระดับยั่งยืน...ส่งเสริมตั้งแต่เด็กวัย 0-3 ขวบ ในแง่นโยบายกลับไม่เคยปรากฏในแผนงานระดับชาติ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าสังคมในชนบทจะเข้าถึงหนังสือได้มากน้อยเพียงใด

“ทุกวันนี้หนังสือราคาแพงมาก หนังสือเด็กบางทีเล่มละ 200–300 บาท ก็บล็อกคนไม่ให้เข้าถึงหนังสือ คิดว่าไม่ใช่คนไทยไม่อ่านหนังสือหรอก แต่ไม่มีหนังสือให้เขาอ่านต่างหาก” ครรชิตทิ้งท้าย.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.