ซามูไรเสียบไส้กรอก ซิ่ง TOYOTA GT86 ที่เยอรมัน (ตอนที่ 2)
 


ซามูไรเสียบไส้กรอก ซิ่ง TOYOTA GT86 ที่เยอรมัน (ตอนที่ 2)


ซามูไรเสียบไส้กรอก ซิ่ง TOYOTA GT86 ที่เยอรมัน (ตอนที่ 2)

รถสปอร์ตคูเป้รุ่นล่าสุดของ Toyota ที่เข้ามาสานต่อตำนานของ Celica และ Corolla AE86 นี่คือ Toyota GT86 รถสองประตูขับเคลื่อนล้อหลังเครื่องยนต์ Boxer สูบนอนรหัส FA-20 ที่ใช้เทคโนโลยีหัวฉีด D4S ร่วมกับ Subaru BRZ ตอนที่สองกับการทดสอบในสนามบิน Mendig Airfield นอกเมือง K?ln ประเทศเยอรมนี...

เครื่องบิน Boeing 747-400 ของสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG920 ร่อนลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ตในเวลา 06.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น เป็นการบินรวดเดียวจากสุวรรณภูมิตรงเข้าสู่ทวีปยุโรป และเป็นการเดินทางมาเยอรมนีครั้งที่สองของผมสำหรับปีนี้ ตามคำเชิญของ Toyota Motor Thailand เพื่อร่วมทดสอบรถสปอร์ตเครื่องยนต์สูบนอนรุ่นล่าสุดของค่ายสามห่วง นั่นก็คือ Toyota GT86 จักรกลสองประตูขนาดกะทัดรัดที่เข้ามาสานต่อประวัติศาสตร์มอเตอร์สปอร์ตของ Toyota หลังจากห่างหายไปจากวงการรถคูเป้สองประตูน้ำหนักเบานานกว่า 10 ปี แม้จะเพิ่งเดินทางมาเยี่ยมชมศูนย์ทดสอบและพัฒนาเชื้อเพลิงของบริษัท Shell ในเมืองฮัมบรู์กไปเมื่อเดือนมิถุนายน แต่หมายเชิญให้เข้าร่วมทดสอบขับขี่รถ Toyota GT86 สำหรับคนบ้ารถสปอร์ตอย่างผมแล้ว มันค่อนข้างยากที่จะปฏิเสธและยินดีร่วมเดินทางในทริปที่มีระยะเวลายาวนานถึง 9 วันบนแผ่นดินยุโรป


Toyota GT86 เปิดผ้าคลุมพร้อมๆ ไปกับรถคู่แฝด Subaru BRZ ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา (2011) ตามติดด้วยการนำเข้ามาขายโดย Toyota Motor Thailand ในเดือนเมษายน 2012 นี่คือ Toyota คันแรกที่วางเครื่องสูบนอนของ Subaru รหัส FA-20 กับหัวฉีด D4S ที่วิศวกรของค่ายสามห่วงปรับระบบจ่ายเชื้อเพลิงให้เป็นแบบไดเรคอินเจคชั่น เพื่อรองรับมาตรฐานการปล่อย CO2 ระดับ EURO 5 สปอร์ตคาร์น้ำหนักเบา (1,202 kg รุ่นเกียร์ธรรมดา 1,240 kg รุ่นเกียร์อัตโนมัติ) คันนี้ มีเรี่ยวแรงประมาณ 200 แรงม้า ระบบส่งกำลังมีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 6 สปีด หรือเกียร์ออโตเมตริก 6 อัตราทด พร้อม Paddle Shift หลังพวงมาลัย ช่วงล่างของ GT86 ด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท สปริง โช้คอัพและเหล็กกันโครง ส่วนด้านหลังเป็นแบบปีกนกคู่ รถ Toyota 86 ถูกออกแบบให้มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (469 มิลลิเมตร) มันใส่ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้วกับยาง Michelin Primacy HP ไซส์ 215/45/R17 ทั้งสี่ล้อ น้ำหนักตัวรวม 1,240 กิโลกรัม กับรูปทรงที่มีความสมมาตรจากการออกแบบ หลังคาที่สั้นและค่อนข้างลาดเอียงแบบคูเป้ กับแนวด้านข้างตัวถังที่ลื่นไหล ทำให้มันเป็นรถสปอร์ตขนาดเล็กที่มีความสวยงามใช้ได้เลยทีเดียว


Tetsuya Tada Chief Engineer ของโครงการ GT86 อดีตนักแข่งรถแชมป์ประเทศญี่ปุ่นหลากหลายรายการให้ความเห็นในการพัฒนารถสปอร์ตรุ่นล่าสุดของ Toyota ว่า ประสบการณ์การขับขี่แบบสปอร์ต ผสมกับความคลาสสิกของรถ AE86 ถูกบรรจุอยู่ในรถ GT86 อย่างครบถ้วน แรงยึดเกาะที่ไม่มากจนเกินไปและทำให้ขาดอรรถรสที่ดีในการควบคุมด้วยฝีมือของ คนขับ การทรงตัวดีและน้ำหนักที่เบาของ GT86 คือเป้าประสงค์ในการรังสรรค์รถสปอร์ตคันนี้ Tetsuya Tada ยังบอกอีกด้วยว่า รถ Toyota GT86 กับ Subaru BRZ ถึงแม้จะเหมือนกันแต่มีปรัชญาของความแตกต่างมาแบ่งแยกพวกมันทั้งสองคันออกจากกันและกันอย่างสิ้นเชิง นี่คือรถที่สามารถควบคุมทิศทางขณะกำลังเร่งอย่างเต็มที่ หรือเบรกแบบเต็มกำลังได้ดีอีกคันหนึ่งจาก Toyota Motor ค่าความยืดหยุ่นของสปริงที่ด้านหน้าของ GT86 จะอ่อนกว่าด้านหลังเล็กน้อย ส่วนบูชแคมเบอร์จะเหมือนกันทั้งหมด รถ GT86 ไม่ใช่รถที่เร็วพอที่จะเร่งความเร็วจาก 0-100 กิโลเมตรในระดับ 3 วินาทีปลายๆได้เหมือนรถซุปเปอร์คาร์ที่มีเครื่องยนต์โตกว่า และไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่แบนและกว้างเหมือนรถสปอร์ตจากอิตาลี แต่การบังคับควบคุมที่ดีทำให้มันเป็นรถสปอร์ตที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถสนุก กับการขับขี่ได้อย่างง่ายดาย เป็นรถยนต์สองประตูที่ใช้งานได้ทุกวันและมีราคาไม่แพงจนเกินไป ทั้งยังเปิดโอกาสให้คนขับได้ใช้ฝีมือในการควบคุมอย่างเต็มที่ โดยมีระบบช่วยทรงตัวรองรับในระดับที่ไม่มากจนเกินไป ซึ่งไม่ทำให้สูญเสียอรรถรสที่ดีของชาติพันธ์ุสปอร์ตคาร์จากค่ายสามห่วง


หุ้น 40 เปอร์เซ็นต์ที่ Toyota Motor ถือครองอยู่ช่วยให้ Subaru มีสถานภาพดีขึ้น และตอบแทนกลับคืนด้วยเทคโนโลยีเครื่องยนต์สูบนอนแบบ NA ไร้ระบบอัดอากาศอันทรงประสิทธิิภาพ การแชร์ชิ้นส่วนร่วมกันของ GT86 และ BRZ จึงเป็นการลดต้นทุนของสายการผลิตได้อย่างเหมาะเจาะ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ วิศวกรของค่ายสามห่วงจะรับผิดชอบการออกแบบรูปทรงทั้งหมด วางแผนการทำตลาด หาซัพพลายเออร์และกำหนดราคาค่าตัว ส่วน Subaru จะรับผิดชอบด้านระบบวิศวกรรมของตัวรถทั้งคัน รวมถึงสายการผลิต โดยรถทั้งสองคันจากสองค่ายดัง จะถูกประกอบขึ้นในโรงงาน OTA ของ Subaru ส่วนข้อแตกต่างของรายละเอียดโดยรวมเช่นกันชนหน้า ตราสัญลักษณ์และล้ออัลลอยขอบ 17 นิ้ว จะแตกต่างกัน โดยเนื้อในแล้ว รถทั้งสองคันมีความเหมือนกันทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์สูบนอน FA-20 D4S ที่เน้นการทำรอบได้ถึง 7,000-7,500 รอบต่อนาที ระบบเกียร์ทั้งออโต้และแมนนวล ช่วงล่าง (BRZ แข็งกว่า 10%) ระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำตามข้อกำหนดซึ่งต่ำกว่า Ferrari 458 อยู่ 110 มิลลิเมตร การเสริมวัสดุประเภทเหล็กทนแรงดึงสูง ที่โครงสร้างหลักส่วนบนของหลังคา รวมถึงกระจกที่บางกว่าปกติแต่มีความทนทาน การกระจายน้ำหนักที่ดีส่งผลให้ประสิทธิภาพด้านการถ่ายเทแรงเฉื่อยเมื่อขับเข้าสู่ทางโค้งด้วยความเร็วสูง เครื่ิองสูบนอนแบบสี่กระบอกสูบนอนยันชักข้าง รหัส FA-20 วางอยู่บนเพลาหน้า ย้ายแบตเตอรี่ไปไว้ที่ด้านหลัง ถังเชื้อเพลิงปริมาตร 50 ลิตร ขึ้นรูปคล้ายเลขแปด ทำจากสารประกอบพวกเรซิน วางตำแหน่งอยู่ใต้เบาะหลัง ตำแหน่งของเบาะนั่งที่ต่ำกว่าปกติตามรูปแบบของคูเป้สปอร์ตที่เน้นอารมณ์ของการขับมากกว่าความสะดวกสบาย


GT86 ราคา 2.7 ล้านบาทในรุ่นสูงสุดที่ Toyota Motor Thailand นำเข้ามาขายคือแนวคิดอันแยบยลของประธานบริษัท Mr. Akio Toyoda ซึ่งนำเอาจิตวิญญาณของบรรพบุรุษในรุ่น AE86 มาใส่เข้าไปในงานวิศวกรรมโครงสร้าง และช่วงล่างที่แสดงออกถึงความเฉียบคม ทั้ง Duncan McMath วิศวกรผู้พัฒนาตัวรถต้นแบบ และ Tetsuya Tada อดีตนักขับที่เข้ามารับตำแหน่ง Chief Engineer ของโครงการ GT86 มีแนวคิดที่แปลกประหลาดไปจากค่ายรถอื่นๆ อย่างชัดเจน พวกเขาร่วมทำงานไปพร้อมๆ กันกับช่างเครื่องยนต์และวิศวกรระบบขับเคลื่อนของ Subaru ในการปรับจูนรายละเอียดต่างๆ เพื่อความลงตัว Duncan McMath และ Tetsuya Tada ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รถสปอร์ตทุกวันนี้ มีล้อที่โตมากจนเกินไป มีน้ำหนักตัวมากเหมือนคนอ้วนจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ที่เผาเชื้อเพลิงทิ้งโดยไม่จำเป็น ปล่อยมลภาวะ แถมยังมีระบบรองรับการขับขี่ที่สมบูรณ์แบบเสียจนไม่เปิดโอกาสให้เจ้าของได้ แสดงฝีมือในการควบคุมมากเท่าที่ควร Tetsuya Tada อดีตมือซิ่งเจ้าของตำแหน่งแชมป์ทางเรียบในยุค 1987 ทำการปรับเซตจนรถ Toyota GT 86 ออกมาในแนวทางที่คนขับเป็นจุดศูนย์กลางในการควบคุมตัวรถ และมีความเสถียรสูง โดยระบบต่างๆ มีไว้เพื่อรองรับในระดับที่พอดีและไม่มากจนเกินไป ซึ่งหากระบบต่างๆเข้ามาแทรกแซงคนขับมากไป อาจจะทำให้ขาดอารมณ์ของการควบคุมไปอย่างน่าเสียดาย

Mendig Airfield

Mendig Airfield

Toyota 2000GT

Toyota 2000GT

Toyota GT ONE Le Mans

Toyota GT ONE Le Mans

Toyota F1 Race-Car 2006

Toyota F1 Race-Car 2006

Toyota AE86

Toyota AE86


สนามบินร้าง Mendig Airfield นอกเมือง K?ln ประเทศเยอรมนี คือสถานที่ทดสอบ GT86 ซึ่งทีม PR ของ Toyota Motor Asia Pacific หรือ TMAP จัดขึ้นมีแทรคที่เคยถูกใช้เป็นรันเวย์ของอากาศยาน ท่าอากาศยาน Mendig Airfield มีความกว้างสุดสายตา หากรถทดสอบเกิดความผิดพลาดที่เกิดจากความเร็ว ก็ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น ระบบความปลอดภัยของสนามบิน Mendig Airfield และการจัดแผนผังสำหรับวิ่งทดสอบตัวรถในสภาพการต่างๆ อยู่ในระดับมาตรฐาน พิธีเปิดซึ่งกระทำขึ้นภายในโรงเก็บเครื่องบินขนาดใหญ่ ภายในบรรจุรถยนต์ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ของ Toyota เช่น Toyota 2000GT / Toyota GT ONE Le Mans / Toyota F1 Race-Car 2006 / Toyota AE86 ตั้งเรียงรายอย่างสวยงาม สนามบิน Mendig Airfield มีที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของ Rheinland Pfalz สร้างขึ้นในปี 1958 จนถึงปี 2008 จึงถูกปิดลงแล้วกลายเป็นสนามทดสอบรถยนต์จนถึงปัจจุบัน พื้นรันเวย์มีทั้งแบบปูนและยางมะตอย ความยาวของรันเวย์ในทางตรงยาวถึง 1.7 กิโลเมตร และมีความกว้างถึง 36 เมตร เหมาะกับการใช้ทดสอบรถยนต์ที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถต้นแบบหรือรถสปอร์ตที่พัฒนามาจนถึงขั้นตอนสุดท้าย


ทีมสื่อมวลชนของไทย เข้าฟังบรรยายสรุปถึงสภาพการต่างๆ ในสนามที่ถูกจำลองให้มีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์จริงในการขับขี่บนถนน ผมเลือกรถ GT86 สีดำเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดรุ่นสูงสุด แม้จะเป็นรถพวงมาลัยซ้ายที่ไม่คุ้นชินแต่การขับทดสอบในสนามปิดมีความปลอดภัยสูงมากกว่า เมื่อเข้าไปนั่งในตำแหน่งคนขับ เบาะที่จมลึกและต่ำเตี้ยของมันให้ความรู้สึกเหมือนกำลังจะลงสู่สนามแข่งรถ ยังไงอย่างงั้น มุมมองทัศนวิสัยด้านหน้าเปิดโล่ง รวมถึงด้านข้างก็ยังโอเค แม้จะมีกระจกบานประตูเล็กกว่ารถทั่วไป แต่มุมมองด้านหลังค่อนข้างอับทึบจากแนวของหลังคาที่เล็กและมีองศาของความลาดเอียงมากกว่าปกติ พวงมาลัยสามก้านแบบสปอร์ตดูดีกว่ารถสองประตูในอดีตของค่ายสามห่วง รถที่ขายในทวีปยุโรปมีเบาะแบบหนังแท้หรือผ้ากำมะหยี่ให้เลือกตามระดับของรุ่นและราคา คันที่ผมใช้ทดสอบเป็นเบาะหนังแท้สีดำ เย็บเดินตะเข็บด้วยด้ายสีแดงตามแบบอย่างค่านิยมของรถสปอร์ตในยุคนี้ ที่ต้องมีภายในงดงามดึงดูดความสนใจและมีความน่าขับแฝงอยู่ การออกแบบและจัดวางอุปกรณ์ พวกปุ่ม สวิตช์ควบคุมระบบต่างๆดีไซน์โดยทีมงานของ Toyota ในทวีปยุโรปทั้งหมด โดยรถ GT86 ที่ส่งออกขายทั่วโลกจะประกอบขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นเพียงแห่งเดียวเท่านั้น


เวลาทดสอบแค่สองสามนาทีบน Subaru BRZ ที่มาเลเซีย เทียบไม่ติดกับเวลาสองวันเต็มๆ บน Toyota GT86 ทีมงานของ TMAP Toyota Motor Asia Pacific จัดให้เต็มๆ ทุกรูปแบบ ทั้งเซอร์กิต ดริฟท์และตระเวนทางไกลขึ้นเขาลงห้วยกว่า 300 กิโลเมตรรอบๆ เมือง K?ln ประเทศเยอรมนี มันคือช่วงเวลาทองของสื่อมวลชนนานาชาติจากทวีปเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ที่ต้องรอนานกว่า 9 เดือน หลังจากพวกแมกกาซีนหัวนอกในยุโรปกับพวกนักข่าวนิตยสารรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่น ขับทดสอบ GT86 กันไปจนหมดไส้หมดพุงแล้ว สี่รอบสนามที่ผมได้สัมผัสกับสปอร์ตคูเป้คันล่าสุดของค่ายสามห่วง เปรียบเหมือนการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ของ Toyota Motor ในประเทศไทย เป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก สำหรับการเดินทางมาทดสอบรถยนต์สปอร์ตรุ่นใหม่ล่าสุดจากค่ายสามห่วงใจกลางประเทศเยอรมนี


รอบแรก ผมใช้ความเร็วต่ำเพื่อปรับจูนตัวเองให้เข้ากับคาแรกเตอร์ของมัน ด้วยการซึมซับรับรู้สัมผัสของพวงมาลัย ช่วงล่าง เบรก และอัตราเร่งรวมถึงความเสถียรของตัวรถ แอร์โรไดนามิกส์ หรือค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านทานอากาศของ GT86 มีตัวเลขที่ 0.27 พวงมาลัยวงเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 365 มิลลิเมตร ปรับได้สี่ทิศทางทั้งขึ้น-ลงและใกล้-ไกล เบาะคนขับที่ต่ำเตี้ยสุดๆ กับโทนสีดำของชิ้นงานต่างๆ ทำให้บรรยากาศภายในห้องโดยสารของ GT86 ใกล้เคียงรถแข่งเข้าไปทุกขณะ เมื่อกดคันเร่งไฟฟ้าช่วงทางตรงจนสุดกำลังของเครื่องยนต์ Boxer สี่กระบอกสูบหายใจเองรหัส FA-20 กับระบบจ่ายเชื้อเพลิง D4S พัฒนาโดย Toyota ให้อัตราเร่งที่ไม่กระโชกโฮกฮากอย่างที่คิดไว้ GT86 พุ่งออกจากจุดหยุดนิ่งไปยังความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้เวลา 7.4 วินาที ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ เป็นความเร็วช่วงออกตัวที่ใกล้เคียงกับ Mazda MX-5 NC และ MINI Cooper S R56 แต่กลับให้สัมผัสที่มั่นคงมากกว่าจากจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่ารถคู่แข่งทั้งสองคัน เมื่ออัดขึ้นไปถึง 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ถึงบริเวณสุดทางตรง เบรกแล้วหักพวงมาลัยเข้าสู่ทางโค้งของรันเวย์ที่ถูกตั้งกรวยไพลอนเพื่อบังคับทิศทางความเร็วที่เกินระดับป้ายในสนามทดสอบซึ่งกำหนดไว้แค่ 165 กิโลเมตรทำให้ยางขอบ 17 ต้องทำงานหนักขึ้นจนถึงกับส่งเสียงออกมา มันเป็นรถสปอร์ตที่มีเครื่องยนต์ขยันทำรอบคล้าย MX-5 แถมท้ายรถยังมีความไวที่ใกล้เคียงกัน คุณสามารถเดาอาการและควบคุมมันทั้งคู่ได้ดีพอกัน เพียงแต่โครงสร้างและความทนทานต่อการบิดตัวของ GT86 จะแข็งแรงกว่า Mazda MX-5 เล็กน้อยเนื่องจากเป็นรถคูเป้หลังคาแข็ง ไม่ใช่รถ Roadster เปิดหลังคา


สนามบินร้าง Mendig Airfield นอกเมือง K?ln คือของว่างยามบ่ายสำหรับ Toyota GT86 ให้ขบเคี้ยวเล่น ความกว้างและผังสนามออกแบบให้บังคับควบคุมรถทดสอบได้อย่างเมามันสะใจและไม่ต้องกลัวว่าจะหลุดไปฟาดกับอะไรทั้งสิ้น สำหรับการวิ่งทดสอบในรอบสุดท้าย ผมปิดระบบควบคุมการทรงตัว VSC ซึ่งเป็นสวิตช์เล็กๆ สีเงินข้างคันเกียร์เพื่อทำให้ท้ายรถไวมากขึ้น ไพลอน ณ จุดสลาลมที่ใช้ทดสอบการทรงตัว ทำให้สามารถรับรู้ถึงการยึดเกาะของช่วงล่างด้านหน้าได้ดี แต่คุณต้องไม่ใช้ระบบช่วยทรงตัวซึ่งจะไม่สามารถรับรู้อาการที่แท้จริงของมัน ได้เลยหากเปิดทิิ้งไว้ ระบบ VSC ของ GT86 จะควบคุมจนไม่ยอมให้ท้ายรถเกิดอาการปัดได้เลยแม้แต่น้อย เมื่ิอผมปิดสวิตช์ VSC ช่วงล่างด้านหลังจะมีระดับของการยึดเกาะกับผิวถนนในระดับปกติที่ไม่มากจนเกินไป และเปิดโอกาสให้ได้สไลด์ตัวรถเข้าหาโค้งได้มากเท่าที่ต้องการ (ไม่แนะนำให้ทำบนถนนปกติ) ช่วงล่างด้านหลังแบบปีกนกคู่พร้อมเหล็กกันโคลงของ GT86 ให้อารมณ์การดริฟท์แบบรถสปอร์ตขับเคลื่อนล้อหลังที่มีความสมบูรณ์แบบแฝงอยู่ ส่วนรอบเครื่องยนต์นั้น มีย่านของแรงบิดสูงสุดมากถึง 7,000-7,400 รอบต่อนาที สำหรับพวกที่ชอบขับแบบลากรอบดูจะเหมาะสมกับ GT86 มากกว่าพวกที่ชอบเปลี่ยนเกียร์เร็วๆ ที่น่าทึ่งคือความแม่นยำของพวงมาลัยไฟฟ้า การถ่ายเทน้ำหนักและความต่อเนื่องเมื่อหักหัวรถไปตามทิศทางบนสนามทดสอบ มันคือรถที่เข้าโค้งได้เร็วมากคันหนึ่งหากคุณมีฝีมือมากพอในการควบคุม


สี่รอบสนามสำหรับการทดสอบในวันแรกหมดลงอย่างรวดเร็ว ตามติดด้วยการนั่งไปกับมือดริฟท์ระดับแชมป์ของเยอรมนีในช่วงบ่ายที่ส่งมอบ ความตื่นเต้นเร้าใจให้กับสื่อมวลชนทุกคนให้ได้พบกับความประทับใจชนิดไม่รู้ลืม สำหรับท่านที่เคยชินกับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า เจ้า Toyota GT86 อาจทำให้ความรู้สึกในการควบคุมแปลกแยกออกไปบ้างเมื่อเปรียบเทียบกัน ซึ่งบางครั้งก็ค่อนข้างที่จะน่ากลัวจากอาการของบั้นท้ายที่สาดออกมากกว่า ปกติแต่ไม่ใช่ทั้งลำ มันสามารถแก้คืนได้อย่างง่ายดายด้วยการแต่งทิศทางของพวงมาลัยกับคันเร่งให้มีความพอเหมาะพอดีกับโค้ง จักรกลสปอร์ตคันนี้ให้ความสนุกได้ทั้งมือเก่าและมือใหม่ รถ GT86 อาจไม่ใช่สปอร์ตคูเป้ที่ดีที่สุด หรือแรงจนทำให้ขนบนหัวคุณตั้งชัน แต่คุณจะหลงรักมันทันทีที่ได้ขับ พรุ่งนี้จะเป็นการขับทดสอบรอบๆ ถนนหนทางใกล้กับเมืองโคโลญจน์ของเยอรมนี เป็นการทดสอบที่ผมเฝ้ารอมานานกว่า 9 เดือนหลังจากการเปิดตัว แต่จะเป็นอย่างไรนั้นโปรดติดตามตอนต่อไป.

Arcom roumsuwan
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom

 

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.