ต.ค.นี้ อีซูซุดีแมคซ์เพิ่มกำลังเป็น3แสนคัน/ปี
 


ต.ค.นี้ อีซูซุดีแมคซ์เพิ่มกำลังเป็น3แสนคัน/ปี


ต.ค.นี้ อีซูซุดีแมคซ์เพิ่มกำลังเป็น3แสนคัน/ปี

ฮิโรชิ นาคางาวะฮิโรชิ นาคางาวะหลังจากที่อีซูซุ เปิดตัวรถปิกอัพรุ่นใหม่  ออล นิว ดีแมคซ์   ที่เคลมว่า เป็นรถปิกอัพสำหรับคนทั้งโลก เมื่อปี 2554  ได้ไม่นาน ก็ได้คำสั่งจากลูกค้ามาอย่างล้นหลาม ประกอบกับได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่   ที่ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ซัพพลายสินค้าให้ไม่ทัน ลูกค้าต้องรอรถนานหลายเดือน ซึ่งปัญหานี้  "ฮิโรชิ นาคางาวะ"   กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์อีซูซุในไทย ยืนยันว่า กำลังแก้ไขระบบการผลิตเพื่อส่งมอบให้เร็วที่สุด
 - การตอบรับอีซูซุ ออล นิว ดีแมคซ์ 
 อีซูซุ เปิดตัว ออล นิว ดีแมคซ์ มาได้ครบ 1 ปี ได้การตอบรับจากลูกค้าชาวไทยอย่างดีมาก ด้วยดีไซน์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งจากความนิยมรถปิกอัพที่สูงขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ  เช่นกลุ่มผู้ใช้รถเก๋ง ก็หันมาให้ความสนใจออล นิว ดีแมคซ์   ส่งผลให้มียอดจองสูงถึง 1.5  หมื่นคัน ภายในเวลาแค่ 3 วัน  ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ รอรับรถนาน  ด้วยสถิติยอดจำหน่ายและยอดค้างส่งมากกว่า 2 แสนคันภายใน 1 ปี
   ปัจจุบัน อีซูซุ ดีแมคซ์ มียอดค้างส่งรถให้ลูกค้านานประมาณ 3-4  เดือน  แล้วทั้งละรุ่น สี และเครื่องยนต์   แม้ว่า ขณะนี้  บริษัทสามารถผลิตจำหน่ายได้เดือนละ 1.5 หมื่นคัน   แต่ยังมียอดค้างส่งมอบอีก 6 หมื่นคัน
 - การแก้ไขระบบการผลิต 
  ปัจจุบัน  อีซูซุดีแมคซ์  ผลิตที่โรงงานอีซูซุ มอเตอร์(ประเทศไทย)  จังหวัดสมุทรปราการ  กำลังผลิตปีละ 2 แสนคัน วันละ 2 กะ แต่ภายในเดือนตุลาคม 2555 นี้   บริษัทจะเดินเครื่องการผลิตที่โรงงานแห่งใหม่ในนิคมอุตสากรรมเกตเวย์ ฉะเชิงเทรา   ที่ใช้เงินลงทุน 6.5 พันล้านบาท  ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก  1 แสนคัน เพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก  ซึ่งขณะนี้มีความต้องการสูงมาก โดยแบ่งเป็นตลาดในประเทศ  70%  และส่งออก 30%  ทำให้คาดว่า ดีแมคซ์ จะมีกำลังการผลิตรวมปีละ 3 แสนคัน  ตอนนี้ จึงขอโทษลูกค้าที่จองรถไว้ โดยบริษัทยืนยันว่า จะเร่งผลิตและส่งมอบรถให้ลูกค้าอย่างเร็วที่สุด   และขอบคุณลูกค้าที่ยังให้ความไว้วางใจ และยินดีรอรถไม่หันไปซื้อรถจากค่ายอื่น
 - ปรับแผนผลิตรับเออีซี
  จากการที่ไทยจะเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558   อีซูซุเล็งเห็นว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเชื่อมโยงระบบคมนาคมการขนส่งสินค้าระหว่างกัน  สินค้าจากสิงคโปร์จะถูกขนส่งด้วยระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพไปยังไทย  ลาว  จนถึงจีน ซึ่งระบบโลจิสติกส์ของไทยจะทวีความสำคัญมากขึ้น และขยายธุรกิจไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนมากยิ่งขึ้น  ความต้องการใช้รถปิกอัพ รถบรรทุก รถหัวลากขนาดใหญ่ จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว บริษัทจึงขยายสายการผลิตรถบรรทุกภายในโรงงานเกตเวย์  เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 3 หมื่นคัน  เพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ลูกค้ารถบรรทุกก็ต้องรอรับรถนานเช่นกัน
 - ผลกระทบวิกฤติยุโรป-น้ำท่วม
  แม้ว่าจะมีความเป็นห่วงว่า  วิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปจะกระทบต่อการส่งออกรถยนต์  แต่ปัจจุบัน  บริษัทยังได้รับคำสั่งซื้อ ออล นิว ดีแมคซ์  จากผู้จัดจำหน่ายอีซูซุในยุโรปอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนเยอะมาก  ส่วนการเตรียมรับมือน้ำท่วมนั้น ในปี 2554   ที่ผ่านมา โรงงานของอีซูซุ แม้ว่าไม่ได้รับผลจากน้ำท่วมโดยตรง  แต่ต้องหยุดผลิตไป 2  เดือน เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนไม่สามารถเดินเครื่องได้ ซึ่งในปีนี้ อีซูซุ ได้หารือกับซัพพลายเออร์ถึงวิธีการแก้ไขหากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมขึ้นมาอีก คงต้องใช้วิธีนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาทดแทน แม้วิธีนี้ จะทำให้ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น  แต่บริษัทจะไม่ผลักภาระให้ลูกค้า โดยอีซูซุ และซัพพลายเออร์จะรับผิดชอบร่วมกัน 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.