บริษัทสื่อรุกตลาดการศึกษา
 


บริษัทสื่อรุกตลาดการศึกษา


บริษัทสื่อรุกตลาดการศึกษา

altการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในวงการการศึกษา ทำให้บริษัทสื่อรายใหญ่หลายรายมองเห็นโอกาสและศักยภาพ ก้าวเข้ามาลงทุนขยายตลาดในธุรกิจสื่อการเรียนการสอนรูปแบบดิจิตอล เพื่อหวังทดแทนกำไรที่หดหายไป
 เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า ตามข้อมูลของสมาคมสำนักพิมพ์แห่งอเมริการะบุว่า ธุรกิจหนังสือเรียนสำหรับระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยม 6 ในสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่อีก 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นยอดขายสำหรับคู่มือครู ข้อมูลเกี่ยวกับการสอบ และหนังสืออ้างอิง ซึ่งนักการศึกษากล่าวว่า สื่อการสอนในรูปแบบหนังสือทั้งหมด ในอนาคตจะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบดิจิตอล
 ดิสคัฟเวอรี่ คอมมิวนิเคชั่นส์ ซึ่งเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์หลายช่อง อาทิ ดิสคัฟเวอรี่ แชนแนล แอนิมอล แพลเน็ต และทีแอลซี กล่าวว่า ได้ตัดสินใจก้าวเข้าสู่ตลาดหนังสือเรียนดิจิตอลเพราะมองเห็นโอกาสในการเติบโตที่ดีเกินกว่าจะมองข้าม "มันค่อนข้างเพอร์เฟกต์สำหรับเรา คอนเทนต์ด้านการศึกษาเป็นตัวตนหลักของเรา" เดวิด ซาสลาฟ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดิสคัฟเวอรี่ กล่าว เวลานี้ดิสคัฟเวอรี่จำหน่ายบริการวิดีโอการศึกษาให้กับโรงเรียนต่างๆ ในสหรัฐฯ อยู่แล้ว
 ดิสคัฟเวอรี่ไม่ใช่บริษัทสื่อรายเดียวที่มองมาทางธุรกิจดังกล่าว ธุรกิจภาพยนตร์ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ต่างอยู่ในช่วงขาลง กดดันให้บริษัทสื่อจำนวนมากต้องมองหาช่องทางขยายธุรกิจใหม่ๆ และธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษากลายมาเป็นคำตอบใหม่ที่เกิด

ขึ้นมา
 นิวส์ คอร์เปอเรชั่น กล่าวในเดือนนี้ว่า ได้อัดฉีดเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับธุรกิจการศึกษาของตนเองที่ใช้ชื่อว่า แอมพลิฟาย โดยธุรกิจดังกล่าวของนิวส์ คอร์ป จะเน้นไปที่อุปกรณ์การสอนและทดสอบความรู้ในรูปแบบดิจิตอล รูเพิร์ต เมอร์ด็อก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของนิวส์คอร์ป กล่าวว่า จะเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งถ้านับจากนี้ไป 5 ปี ธุรกิจการศึกษาจะทำรายได้ให้กับบริษัทเป็นสัดส่วน 10%
 อย่างไรก็ตาม งานของบริษัทสื่อเหล่านี้อาจจะไม่ง่ายนัก เมื่อคู่แข่งที่เป็นผู้ตีพิมพ์หนังสือเรียนในรูปแบบเดิม อาทิ เพียร์สัน แมคกรอว์-ฮิลล์ และฮอตัน มิฟฟลิน เองต่างก็ปรับกลยุทธ์ด้วยการพัฒนาสื่อการศึกษารูปแบบดิจิตอลของตนเองขึ้นมา และสำนักพิมพ์เหล่านี้มียักษ์เทคโนโลยีอย่าง แอปเปิล หนุนหลัง ด้วยการจับมือกับทั้งสามบริษัทนำหนังสือเรียนระดับมัธยมรูปแบบดิจิตอลไปจำหน่ายบนไอบุ๊กสโตร์สำหรับไอแพด
 วิล เอธริดจ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภาคพื้นอเมริกาเหนือของเพียร์สัน  ซึ่งเป็นบริษัทด้านการเรียนการสอนที่ใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวว่า เพียงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทลงทุนในนวัตกรรมดิจิตอลที่เปลี่ยนแปลงแวดวงการศึกษาเป็นมูลค่า 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ "จะเรียกว่าเป็นการทำลายอย่างสร้างสรรค์ก็ได้ ผมหมายถึงเราตั้งใจทำลายรูปแบบธุรกิจการเรียนการสอนที่ล้าสมัย และแทนที่ด้วยประสบการณ์ที่นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วม"
 บริษัทสื่ออื่นๆ ที่ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจดังกล่าว อาทิ เอ็นบีซียูนิเวอร์แซล ได้สร้างบริการชื่อ เอ็นบีซี เลิร์น (NBC Learn) โดยนำข่าวจากเอ็นบีซีนิวส์มาเปลี่ยนเป็นดิจิตอลและนำไปขายเป็นฐานข้อมูลและระบบการเรียนที่เรียกว่ากระดานดำดิจิตอล เวลานี้เอ็นบีซีเลิร์นมีใช้งานอยู่ในโรงเรียน 5,000 แห่งใน 23 รัฐ ด้านวอลท์ ดิสนีย์ ได้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาขนาดใหญ่ขึ้นหลายแห่งในจีน สามารถรองรับนักเรียนได้มากถึง 150,000 คนต่อปี
 ในอดีตที่ผ่านมา บริษัทสื่อหลายแห่งเคยลองรุกเข้ามาสู่ธุรกิจการศึกษาแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ในปี 2549 ดิสคัฟเวอรี่โปรโมตบริการชื่อ คอสมีโอ (Cosmeo) ซึ่งเป็นบริการบนอินเตอร์เน็ตที่มีวิดีโอและเครื่องมืออื่นๆ ที่ช่วยเด็กๆ ทำการบ้าน แต่หลังจากนั้นเพียงปีเดียว ดิสคัฟเวอรี่ตัดสินใจยกเลิกทำตลาดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและปลดพนักงานในส่วนดังกล่าวออกเกือบทั้งหมด ขณะที่ดิสนีย์เคยแต่งตั้งรองประธานฝ่ายการศึกษาขึ้นในปี 2550 โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวเข้าสู่ธุรกิจการศึกษาในอเมริกาเหนือ แต่ตัดสินใจล้มเลิกไปเพราะมองว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงธุรกิจดังกล่าวเร็วเกินไป



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.