ชี้ไทย-อินโดดันยอดขายรถอาเซียนโต
 


ชี้ไทย-อินโดดันยอดขายรถอาเซียนโต


ชี้ไทย-อินโดดันยอดขายรถอาเซียนโต

altฟรอสต์ระบุอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและอินโดนีเซียหนุนให้ตลาดอาเซียนใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก ภายในปี 2561 
  นาย  วิจาเยนดรา  ราว  ผู้จัดการฝ่ายวิจัยด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวนฯ องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก กล่าวว่า ผลการศึกษาและวิจัยเรื่อง CEO 360 Degree Perspective of the Automotive Industry in ASEAN ซึ่งครอบคลุม 4 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศไทย พบว่า ตลาดดังกล่าวมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 10.1% ในช่วงระหว่างปี 2554- 2561 และคาดการณ์กันว่าภายในปี 2556  ยอดขายรถยนต์ของไทยและอินโดนีเซียจะสูงถึง 1 ล้านหน่วย เนื่องจากความต้องการภายในประเทศ  กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น และเม็ดเงินลงทุนจาก OEM ของญี่ปุ่น
   "บริษัทรถยนต์หลายแห่งจากประเทศจีนและอินเดียกำลังหาช่องทางที่จะขยายตลาดในอาเซียน เนื่องจาก อาเซียนเป็นฐานการผลิตที่มีประสิทธิภาพแข็งแกร่ง นอกจากนั้นแล้วไทยยังสามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนได้เนื่องจากมีเม็ดเงินลงทุนมาจาก OEM ของญี่ปุ่น   รวมไปถึงงบประมาณการสนับสนุนจากรัฐบาลอีกด้วย"
  สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย แม้จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นและน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้หยุดชะงักลง และส่งผลกระทบต่อยอดขายโดยรวม อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีนี้การผลิตและยอดขายต่างๆจะสามารถฟื้นตัวได้
  สำหรับกำลังการผลิตรถยนต์ของไทย คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตจากปี 2554- 2561 อยู่ที่ 11.9% ส่วนยอดขายทั้งหมดจะมีอัตราการเติบโตที่ 16.1% และคาดว่าการผลิตรถยนต์นั่งจะมีโอกาสแซงหน้ารถเพื่อการพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้  โดยผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติที่มีฐานการผลิตในไทยมีแผนจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่มากถึง 40 โมเดลในอนาคต  และยอดขายทั้งหมดในประเทศไทย คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 16.1%ในปี 2554- 2561 โดยมียอดสูงถึง 2.26 ล้านหน่วยในปี 2561
  แนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น มีปัจจัยสนับสนุนมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเชิงบวก และการนำเสนอรถรุ่นใหม่ๆซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้น  นอกจากนี้การสนับสนุนจากรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ อาทิ โครงการรถคันแรก จะช่วยกระตุ้นความต้องการภายในประเทศในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
  ขณะที่ตลาดอินโดนีเซีย ในปีที่ผ่านมาสามารถผลิตเพิ่มขึ้น 16.9% มูลค่าการส่งออกยานยนต์ของอินโดนีเซียมีมูลค่าสูงถึง 203.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน โดยรถนำเข้าแบบทั้งคัน (CBU) โตขึ้น 25.8% หรือ 107,932 หน่วยในปี 2554
  "แม้ว่าจะมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย  ทำให้ในปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียเป็นตลาดยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยรถอเนกประสงค์ เป็นรถที่ต้องการมากที่สุดในตลาดอินโดนีเซีย เนื่องจากรถที่ขายดีที่สุด 5 อันดับแรกมาจากเซ็กเมนต์นี้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คอมแพ็กต์คาร์ โดยเฉพาะแบบ 5 ประตู ก็ยังคงเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น"
   โดยมีการคาดการณ์ว่ายอดขายรวมของอินโดนีเซีย จะมีอัตราการเติบโต อยู่ที่ร้อยละ 8.7% ในปี 2554- 2561  หรือ มียอดสูงถึง 1.6 ล้านหน่วยในปี 2561 เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง ความเชื่อมั่นในเชิงบวกของผู้บริโภค อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ  และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆของผู้ผลิตต่างๆ    และกำลังการผลิตมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 9%ในปี 2554- 2561
  "อินโดนีเซียมีแนวโน้มว่าจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ราคาถูกและรักษาสิ่งแวดล้อม (Low-cost green vehicles) ในอนาคต และยังเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนเนื่องจากกำลังการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดในระดับนานาชาติ"
   ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในมาเลเซีย พบว่ารัฐบาลมาเลเซียได้ขยายการยกเว้นภาษีเต็มรูปแบบของภาษีนำเข้าและอากรขา..ภาษีสรรพสามิตของ รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถที่มีขนาดเล็กกว่า 2000 ซีซีจนถึงปลายปีหน้า  ซึ่งนโยบายดังกล่าวทำให้ยอดขายรถรุ่นไฮบริดต่างๆ อาทิ Honda Insight, Toyota Prius และ 200H Lexus CT มีการเติบโตอย่างมาก
  ขณะที่เวียดนาม ในปีที่ผ่านมามียอดขายที่ลดลง 2%  และคาดว่ายอดขายในปี 2555 จะลดลงถึง 12% ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายต่างๆของรัฐบาล อาทิ การจำกัดจำนวนรถยนต์นำเข้า และการจำกัดกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ส่วนตัวของประชาชน อย่างไรก็ตาม ความต้องการรถยนต์นั่ง โดยเฉพาะขนาด 2000  ซีซีหรือต่ำกว่านั้น ยังคงเพิ่มขึ้นเนื่องจาก เหมาะกับสภาพถนนในประเทศเวียดนามและประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่า



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.