“มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” มหาวิทยาลัยของกรุงเทพฯ เพื่อการพัฒนาเมือง
 


“มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” มหาวิทยาลัยของกรุงเทพฯ เพื่อการพัฒนาเมือง


“มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” มหาวิทยาลัยของกรุงเทพฯ เพื่อการพัฒนาเมือง
มีสถานศึกษาในสังกัดเป็นของตัวเอง ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงมัธยม แต่ก็ยังไม่หยุดพัฒนาอย่างต่อเนื่องสำหรับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งถึงแม้จะเป็นท้องถิ่นแต่เมื่อได้ชื่อเป็นเมืองหลวงยิ่งใหญ่ จึงหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องเพิ่มศักยภาพการพัฒนาด้านการศึกษา จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยของกรุงเทพมหานคร”

มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร หรือชื่ออย่างเป็นทางการที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วคือ  ’มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช“ ซึ่งแนวคิดเกิดจากผู้บริหาร กทม.ต้องการสร้างมหาวิทยาลัย  เพื่อเป็นทางเลือกกับนักศึกษาสามารถศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการเมือง ชุมชนเมืองหลวง และเพื่อตอบสนองความต้องการของเมืองหลวง แต่แนวคิดนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับหรือมีความชัดเจนนักจนกระทั่งในสมัย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)ได้สานต่อแนวคิดดังกล่าวอีกครั้ง

กทม.ซึ่งถือเป็นหน่วยงานท้องถิ่น ได้เปิดการศึกษาหลายระดับแล้วตั้งแต่ประถมจนถึงชั้นมัธยม อีกทั้งยังมีสถาบันอุดมศึกษา 2 แห่ง ในกำกับดูแล คือ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล และ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์  ที่เน้นแผนการศึกษาวิชาการทางการแพทย์และพยาบาล และเน้นผลิต
บุคลากรทางการแพทย์ ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในประเทศ แต่ยังคงเป็นหน่วยงานราชการที่อยู่ภายใต้กรุงเทพมหานครและไม่มีการประสาทปริญญาบัตรเป็นของตนเอง ยังต้องประสาทปริญญาบัตรภายใต้ชื่อมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถานศึกษาหลักทางการแพทย์แห่งหนึ่งเท่านั้น หากจะมีการขยับขยายหรือเพิ่มศักยภาพทางการศึกษา กทม. จะต้องปรับให้สถาบันการศึกษาที่มีอยู่ให้อยู่ในระดับเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ  

โดย กทม.ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.... และคณะรัฐมนตรีได้รับร่างพระราชบัญญัติฯ ไว้ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2550 แต่หลังจากที่นายอภิรักษ์ หมดวาระลง เรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้จึงหยุดนิ่งไประยะหนึ่ง และเมื่อม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่มาดำรงตำแหน่งก็มีการผลักดันร่างฯ ดังกล่าว จนมีประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553  มีผลใช้บังคับในวันที่ 13 พ.ย. 53

พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553 มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร เป็น สถาบันอุดมศึกษา ในกำกับของ กรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น โดยให้ผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ให้โอนภารกิจและงบประมาณของวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล และวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ไปเป็นของมหาวิทยาลัยฯ ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการโอนบุคลากรซึ่งสังกัดวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ไปเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย และกำหนดวิธีการบริหารกิจการของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร ได้ขอพระราชทานนามมหาวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่นแห่งแรกของประเทศไทย เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ท้องถิ่นก่อตั้งขึ้นเอง โดยในวันที่ 30 ส.ค. นี้จะมีการเปิดตัวมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานครเดิมและเพิ่มเติมหลักสูตรที่มีความจำเป็นในการพัฒนาเมือง พร้อมเปิดตัวผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย ศ.ดร.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี มาเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย นายพิจิตต รัตตกุล เป็นอธิการบดี นายสมนึก ชัยเดชสุริยะ, ศ.นพ.ไพจิตร ปวะบุตร, รศ.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย และ รศ.สุดา สุวรรณาภิรมย์ เป็นรองอธิการบดี นอกจากนี้ยังมีที่ปรึกษาของอธิการบดี นายมีชัย วีระไวทยะ นายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ ศ.นพ.บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายฐาปน สิริวัฒนะภักดี นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ศ.นพ.กระแส ชนะวงษ์ และมี นพ.ชัยวัน  เจริญโชคทวี ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล เป็นคณบดี
     
นพ.ชัยวัน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนี้เบื้องต้นจะมีหลักสูตรปริญญาตรี คณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรดั้งเดิมจากทั้ง 2 หน่วยงานด้านการแพทย์ของ กทม. คือ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลและวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ นอกจากนี้จะมีการเปิดหลักสูตรปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานเมือง เพื่อให้เกิดความรู้ในการพัฒนาเมืองใหญ่ ได้แก่  สาขาจัดการน้ำ สาขาจัดการสิ่งแวดล้อม สาขาจัดการจราจร สาขาจัดการมลพิษ การบริหารจัดการเมือง  ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ความรวดเร็วของสังคมเมือง เช่น โรคระบาดใหม่ในเขตแออัดของเมือง กรณีภัยพิบัติใหม่ แผ่นดินไหว เป็นต้น ซึ่งจะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่เชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาหรือประสบปัญหาเมืองใหญ่ ในการส่งนักศึกษาไปเรียนรู้ตามหลักสูตร เช่น ประเทศอิตาลี เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็นที่เรียนรู้และกึ่งวิจัย เผยแพร่ความรู้ที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประชาคมเมืองได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีกรุงเทพฯ เปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการที่ใหญ่ และเปรียบเสมือนสถานที่ฝึกงานจริง เพราะเป็นเมืองใหญ่ที่มีปัญหาทุกรูปแบบเช่นกัน โดยจะสามารถผลิตบัณฑิตตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานภาคเอกชนและภาคราชการได้เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ

“แม้ขณะนี้มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีปัญหาจากการปรับเปลี่ยนจากหน่วยงานราชการไปเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการแต่ยังอยู่ในการกำกับดูแลของ กทม.แต่ก็เป็นการปรับเปลี่ยนที่สำคัญจึงต้องมีการทำความเข้าใจทั้งกับ กทม.ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับบุคคลในองค์กร ที่จะต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  เพื่อให้มหาวิทยาลัย กทม.ดำเนินการได้อย่างดีที่สุด”

แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยของกรุงเทพมหานคร ใช้ห้องเรียนจากชีวิตจริงคนกรุงเทพฯ เป็นหลัก แต่ประโยชน์เกิดขึ้นกับคนทั่วประเทศ  และหากไม่หยุดพัฒนาก็ไม่มีทางที่จะหมดสิ่งอันเป็นประโยชน์ใหม่ ๆ    เหมือนกับคำกล่าวที่ว่าการศึกษาไม่มีที่สิ้นสุด.

แสดงความคิดเห็น

แบ่งปัน

จำนวนคนดู   438  ครั้ง


// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.