เปิดตำนานอาหารศักดิ์สิทธิ์
 


เปิดตำนานอาหารศักดิ์สิทธิ์


เปิดตำนานอาหารศักดิ์สิทธิ์

พระพิฆเนศ มีขนมโมทกะอยู่ในพระหัตถ์

ช่วงเข้าพรรษานี้ คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน ขอนำเรื่องราวอันเป็นมงคลมาฝากท่านผู้อ่านที่รักครับ เพื่อให้รับกับเทศกาลนี้   ซึ่งชาวจีนก็จะมีเทศกาลไหว้พระจันทร์   ส่วนชาวอินเดียในกรุงราชคฤห์แคว้นมคธเมื่อครั้งพุทธกาลก็มีการกวนกระยาสารทถวายพระสงฆ์

อาหารที่ถือกันว่าเป็นของมงคลนี้มีอยู่ทุกที่ทุกหนแห่งทั่วโลก   และเมื่อดูแล้วก็มีคุณประโยชน์ซ่อนอยู่ หาใช่ดีแค่ในตำนานไม่

เรื่องอาหารมงคลนี้เป็นของที่บรรพชนท่านใส่ประโยชน์ซ่อนมาอยู่มาก นับแต่ครั้งมนุษย์ยังเป็นเพียงชนเผ่าเร่ร่อนเท่านั้น ดังตัวอย่างเรื่องของ “มานนา (Manna)” มีหน้าตาเป็น

ของหวานเกล็ดน้อยฝอยนุ่มคล้ายปุยหิมะเป็นโภชนะศักดิ์สิทธิ์จากพระผู้เป็นเจ้าประทานให้แก่ลูกหลานชาวยิวที่เดินทางออกจากอียิปต์ (Exodus) เร่ร่อนอยู่กลางทะเลทรายในช่วง40 ปีแห่งความทุกข์ยาก ยังไม่มีดินแดนเป็นของตัวเอง เป็นดั่งขนมจากฟ้ามาดิน ชาวยิวได้กินกันจนมีแรงเดินทางหาดินแดนแห่งพันธสัญญาต่อ

เป็นบ่อเกิดแห่งพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่

เรื่องของอาหารมงคลและอาหารในตำนานของนานาชนชาติและศาสนานั้น มีทั้งตำนานและเรื่องจริงที่ช่วยเสริมบทบาทของอาหารและขนมให้กลายเป็นโภชนาที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ดังในเรื่องราวต่อไปนี้

นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส

นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส

– ข้าวมธุปายาส ข้าวหุงปรุงอย่างประณีตเป็นกระยาทิพย์อันศักดิ์สิทธิ์ที่นางสุชาดาทำถวายเจ้าชายสิทธัตถะผู้ทรงนั่งบำเพ็ญเพียรอันยิ่งใหญ่อยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ขนมนี้ทำมาจากข้าวหุงด้วยน้ำนมโคอย่างดีที่เลี้ยงด้วยกรรมวิธีพิเศษ นั่นคือต้องใช้โคนมถึง 1,000 ตัว แล้วต้อนให้ไปยังป่าชะเอมเพื่อให้พากันขบเคี้ยวกินแล้วจึงรีดนมวัวนั้นออกมาแล้วแบ่งออกให้โค 500 ตัวดื่ม จากนั้นก็รีดเอานมโคทั้ง 500 นั้นมาแล้วแบ่งให้โค 250 ตัวดื่ม ทำดังนี้คือแบ่งครึ่งจำนวนโคแล้วให้ดื่มนมของตัวก่อนๆไปจนเหลือโคเพียง 8 ตัว แล้วจึงรีดนมนั้นมา แล้วนำมาปรุงกับข้าวอ่อน จากนั้นปั้นเป็นก้อนจำนวน 49 ก้อนใส่ในถาดทองคำนำมาถวายพระพุทธเจ้า

– กระยาสารท ขนมมงคลของไทยในเทศกาลเข้าพรรษา กวนกันในราวเดือน 10 ก่อนเข้าพรรษา ด้วยมีตำนานว่าแต่ครั้งพุทธกาลพระเจ้าอชาตศัตรูได้ทอดพระเนตรเห็น “เปรต” อยู่ในร่างภิกษุดูมีทุกขเวทนา พระองค์ปรารถนาจะสงเคราะห์เปรตเหล่านั้น จึงได้ตรัสถามว่าต้องการสิ่งใด เปรตนั้นก็ว่าให้นำของ 7 อย่าง คือ น้ำตาล น้ำผึ้ง ถั่ว งา ข้าวตอก ข้าวเม่า น้ำนมวัว มาปรุงเป็นกระยาสารทแล้วถวายพระภิกษุผู้ทรงศีลาจารวัตรแล้วเปรตก็จะได้รับ ชาวเมืองราชคฤห์จึงปรุงกระยาสารทเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้

ขนมปังไม่ใส่เชื้อ

ขนมปังไม่ใส่เชื้อ

– ปังศักดิ์สิทธิ์ เป็นขนมปังไร้เชื้อ (Unleavened bread) ที่ใช้ในศีลมหาสนิทของคริสเตียนโรมันคาทอลิก ถือเป็น “พระวรกาย” แห่งพระเยซู ส่วนไวน์นั้นคือ “พระโลหิต” ปังศักดิ์สิทธิ์นี้จะถูกเก็บรักษาเอาไว้ในที่บูชาอย่างดีที่สุด ในศาสนายูดายก็มีวันที่รับประทานขนมปังไร้เชื้อนี้คือในช่วงเทศกาลปัสกา (Pasca) เป็นเวลา 7 วัน

มานนา อาหารศักดิ์สิทธิ์จากฟากฟ้า

มานนา อาหารศักดิ์สิทธิ์จากฟากฟ้า

– มานนา, น้ำนม และน้ำผึ้ง ขนมศักดิ์สิทธิ์ของลูกหลานยิวหรืออิสราเอล ในส่วนของมานนาได้กล่าวไปแล้ว มีหน้าตาคล้ายกับปุยเค้กนุ่มสีขาวมีรสหวานให้พลังงาน ส่วนน้ำนมและน้ำผึ้งนั้นถือเป็นตัวแทนของดินแดนอันอุดมที่พระเจ้าทรงสัญญากับชาวยิวว่าจะประทานให้ในชื่อว่าดินแดน “คานาอัน (Canaan)” เป็นมาตุภูมิที่ชาวยิวเฝ้ารอ

ขนมอาซูรอ

ขนมอาซูรอ

– ขนมอาซูรอ ขนมนี้น่าจะเก่าแก่ที่สุดตามเนื้อความในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะได้ผลิตขึ้นมาหลังจากมหาอุทกภัยล้างโลก โดยท่านนบีนุฮ์ หรือ “โนอาห์” ได้พาเหล่าส่ำสัตว์ขึ้นบกหลังจากน้ำแห้งแล้ว ในช่วงแรกยังไม่อาจหาอาหารอันอุดมกินได้ก็พากันนำธัญพืชเท่าที่มีเหลืออยู่นำมากวนรวมกันกับเผือก, มัน, ข้าวเจ้า, ถั่วดำ จนคล้ายขนมเปียกปูน เป็นอาหารยังชีพในช่วงคับขันเรียกอีกชื่อว่า “พุดดิ้งของโนอาห์ (Noah’s pudding)” ทุกวันนี้พี่น้องชาวมุสลิมก็ยังมีประเพณีทำขนมอาซูรอนี้อยู่

คริสต์มาสพุดดิ้ง

คริสต์มาสพุดดิ้ง

– คริสต์มาสพุดดิ้ง เป็นขนมในเทศกาลพระคริสต์ประสูติ โดยสมาชิกในครอบครัวจะมาล้อมวงกันรับประทานอาหารมื้อพิเศษวันคริสต์มาส และในมื้อนั้นที่ขาดไม่ได้ก็คือขนมเค้กที่ราดด้วยเหล้ารัมฉ่ำเยิ้มเสิร์ฟมาในแบบจุดไฟติดสวยงามปิดท้าย ทุกคนก็จะได้กินเค้กที่หวานฉ่ำอร่อยกันถ้วนหน้า ก่อนปิดท้ายด้วยคำอวยพร “เมอร์รี่ คริสต์มาส!”

– น้ำผึ้ง นอกจากยิวแล้วชาวอียิปต์ก็ถือน้ำหวานจากภุมรินทร์นี้เป็นของขวัญจากพระเจ้าด้วย โดยเมื่อ 3,000 ปีก่อนมีพิธีใหญ่ที่ถวายน้ำผึ้งให้แก่เทพเจ้าโดยการเทลงแม่น้ำไนล์นับเป็นตัน! ลองดูอีกฝั่งของโลกบ้างคือบ้านเราเอง คนไทยเราก็มีประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งกันใน
วันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ที่จังหวัดสมุทรสาครด้วยครับ

ไข่อีสเตอร์

ไข่อีสเตอร์

– ไข่อีสเตอร์ ไข่ถือเป็นเครื่องหมายแห่งการเกิดใหม่หรือชีวิตใหม่ ในพระคัมภีร์กล่าวถึงการฟื้นคืนพระชนม์ขององค์พระคริสต์เจ้าไว้ ชาวคริสต์จึงถือวันนี้เป็นวันสำคัญทางศาสนาอีกวันหนึ่งโดยให้ “ไข่” เป็นสัญลักษณ์มงคลนั้น มีการนำไข่มาทาสีสวยงามและที่สำคัญคือมีการประดิษฐ์ช็อกโก-แลตเป็นรูปไข่ขึ้นมามอบให้แก่กันในวันนี้ด้วย

พระกฤษณะกับไหบรรจุฆี

พระกฤษณะกับไหบรรจุฆี

– เนยใส หรือ “ฆี” ถือเป็นอาหารที่มีความศักดิ์สิทธิ์   โดยมีตำนานว่าพระกฤษณะเมื่อวัยเด็กนั้นเป็นกุมารที่ค่อนข้างร่าเริงขี้เล่น ได้ไปลักจ้วงเอาเนยใสที่อยู่ในไหมาบริโภค จึงทำให้เนยใสได้ชื่อว่าเป็นของถวายสูงค่าต่อพระกฤษณะซึ่งก็คือองค์นารายณ์อวตารภาคที่แปด พราหมณาจารย์ทั้งปวงจึงมักกระทำกองกูณฑ์บูชาโดยเติมเนยใสใส่เข้าไป

– ปัญจคาวียะ คือของที่ถวายสำหรับพระเจ้าจักรพรรดิเสวยเพลาราชาภิเษกโดยประกอบด้วยของศักดิ์สิทธิ์ 5 ประการคือ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น เปรียง (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2542) แต่ถ้าเป็นเวอร์ชั่นของอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ท่านว่าประกอบด้วยนม เนยข้น เนยใส มูตร และคูถโค สำหรับ 2 อย่างหลังแปลเป็นไทยคือมูลกับปัสสาวะของโค  เนื่อง จากโคเป็นสัตว์เลี้ยงของพระกฤษณะ และเป็นพาหนะของพระอิศวร

ขนมโมทกะ (ลัฑฑู)

ขนมโมทกะ (ลัฑฑู)

– ขนมโมทกะ (ลัฑฑู) เป็นขนมของพระพิฆเนศ มีเทพอยู่เพียงพระองค์เดียวที่มีขนมอยู่ในพระหัตถ์ ขนมโมทกะลัฑฑูนี้ถ้าเรียกให้อาบังเข้าใจต้องออกเสียงว่า “หล่า-ดู๊” เป็นขนมอินเดียโบราณทำจากแป้งข้าวเจ้าที่มีไส้เป็นมะพร้าวคลุกน้ำตาล บางสูตรก็ทอดหรือบางสูตรก็ไม่ มีหน้าตาคล้ายขนมต้มบ้านเรา

เซ้นต์เบซิลเค้ก

เซ้นต์เบซิลเค้ก

– เซ้นต์เบซิลเค้ก หรือขนมเค้กของนักบุญเบซิล เป็นขนมเค้กแบบกรีกที่ทำขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ ถือเป็นขนมมงคลเพราะนักบุญเบซิลผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้สิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 1 มกราคมพอดี เค้กนี้จะมีความพิเศษอยู่ตรงที่มีเหรียญเงินสอดอยู่ 1 อัน แต่จะไม่รู้ว่าสอดที่ใด ถ้าใครกินแล้วเจอเหรียญก็ถือว่าโชคดีมีปีใหม่ที่ดี (ไม่รู้จะมีฟันบิ่นด้วยหรือเปล่า!)

เจ้าแม่หวังหมู่

เจ้าแม่หวังหมู่

– ซิ่วท้อ คือขนมแป้งทำเป็นรูปลูกท้อทาสีให้แดงเรื่อดูน่ารับประทาน มาจากตำนานท้อวิเศษว่าเจ้าแม่หวังหมู่ปลูกท้อนี้ไว้บนเขาคุนหลุนฝั่งตะวันตกอันเป็นที่ประทับของพระองค์แล้วเจ้าแม่ก็ทรงเฝ้าพิทักษ์ต้นท้อวิเศษนี้ไว้ ต้องใช้เวลาสามพันปีกว่าจะออกดอกสักครั้ง แล้วจากนั้นอีกสามพันปีดอกท้อจึงกลายเป็นผล ต้องทนรอแบบไม่ท้อจริงๆจึงจะได้กินท้อวิเศษนี้ และที่สำคัญต้องมีคุณความดีอันไพศาลด้วย เพราะท้อนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคเป็นเซียนไม่รู้เจ็บตาย

– ขนมไหว้พระจันทร์ เป็นขนมศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องชาวจีนที่มีประเพณีไหว้กันในคืนเพ็ญขึ้น 15 ค่ำของเดือนแปด ตำนานขนมชนิดนี้มีหลายกระแส แต่ที่ได้ยินกันมาก เรื่องหนึ่งคือเรื่องของนางฉางเอ๋อที่ดื่มยาอมตะเข้าไปแล้วลอยลิ่วขึ้นไปสถิตบนดวงจันทร์มาจนทุกวันนี้ ชาวจีนที่ระลึกถึงคุณของนางก็เริ่มทำพิธีไหว้พระ จันทร์มานับแต่นั้น ในบันทึกแรกที่มีกล่าวไว้คือเริ่มในสมัยราชวงศ์ถัง

– สูกรมัทวะของนายจุนทะ พระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า หลังจากนายจุนทะได้ถวายสูกรมัทวะแล้ว มีพุทธดำรัสให้นำส่วนที่เหลือไปฝังทันทีเพื่อมิให้ภิกษุอื่นได้ขบฉันอันจะก่อให้เกิดอันตราย  แล้วจากนั้นก็ได้ทรงสรรเสริญบุญกิริยาในครั้งนี้ของนายจุนทะเพื่อมิให้ผู้ใดเอาผิดแก่จุนทะได้ จากนั้นทรงประชวรปักขันธิกาพาธ (ถ่ายพระบังคนหนักเป็นพระโลหิต) มีการถกเถียงในหมู่ปราชญ์ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร สายหนึ่งก็ว่าเป็นเห็ดอย่างหนึ่งซึ่งอาจย่อยยาก อีกทางก็ว่าอาจเป็นเนื้อหมูอ่อน ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยากที่จะรู้

โภชนาหารอย่างสุดท้ายนอกจากเป็นอาหารขบฉันที่โด่งดังในประวัติศาสตร์แล้วยังเป็นกระยาหารที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่ามีอานิสงส์เทียบเท่ากับข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวายก่อนตรัสรู้ เพราะสูกรมัทวะคือพระกระยาหารก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน อันเป็นการก้าวพ้นวัฏสงสารโดยสิ้นเชิง.

 

โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช
ทีมงานนิตยสาร ต่วยตูน



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.