ฟอร์จูนเนอร์-สวิฟท์แชมป์อืดถอยป้ายแดงยังรอนาน
 


ฟอร์จูนเนอร์-สวิฟท์แชมป์อืดถอยป้ายแดงยังรอนาน


ฟอร์จูนเนอร์-สวิฟท์แชมป์อืดถอยป้ายแดงยังรอนาน

altครึ่งปีหลัง ลูกค้าเร่งจองรถก่อนหมดนโยบายลดภาษีรถคันแรก ออร์เดอร์ค้างส่งเพียบ รอรับนานข้ามปี ธุรกิจขายใบจองอู้ฟู่ กระดาษแผ่นเดียวซื้อ-ขาย 3 หมื่นบาท โตโยต้ากู้สถานการณ์เร่งผลิต 3 กะ ทั้ง 3 โรงงานส่งมอบเร็วขึ้น   ส่วนฟอร์ดยันไม่ปิดรับจอง เรนเจอร์ ไวด์แทรก แต่อาจรอนาน  6 เดือน
 จากการสำรวจของ"ฐานเศรษฐกิจ"พบว่า สถานการณ์ยอดจองรถค้างส่งนานในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ยังไม่กระเตื้องขึ้น   ผู้ซื้อรถใหม่ยังต้องรอคอยการส่งมอบรถนานไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน บางรายรอนานข้ามไปถึงปี 2556   ทำให้ผู้สนใจซื้อรถใหม่บางรายตัดสินใจหาซื้อใบจองรถ ที่มีประกาศขายตามเว็บไซต์รถยนต์ต่างๆ เพื่อสามารถรับรถได้เร็วขึ้น ทันใช้สิทธิ์ลดภาษีรถคันแรก 100,000 บาท  ที่หมดเขตในวันที่ 31 ธันวาคม 2555  โดยใบจองปัจจุบัน มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 20,000-30,000 บาท  ลูกค้าส่วนหนึ่งยินยอมจ่ายก้อนดังกล่าว เพราะเมื่อหักลบกับส่วนลดภาษี 100,000 บาท ยังได้กำไรจากส่วนต่าง 70,000-80,000 บาท    นอกจากนี้ โชว์รูมรถยนต์แทบทุกแห่งยังเปิดขายรถยนต์ "ล็อตพิเศษ" สำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการรอคิวนานเกินไป โดยต้องซื้อชุดตกแต่งเพิ่มเติมอีกมูลค่า 20,000-40,000 บาท   
 จากการสำรวจพบว่ารถยนต์ซูซูกิ สวิฟท์ อีโคคาร์ ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยรุ่นท็อป   GLX ได้รับความนิยมสูงสุด     รอนานสุด 10-11 เดือน  จองตอนนี้รับรถเดือนมิถุนายน 2556   อย่างไรก็ตาม ซูซูกิจะมีการผลิต สวิฟท์   รุ่นเกียร์ธรรมดา ซึ่งคาดว่า จะส่งมอบรถได้ประมาณเดือนตุลาคม 2555  ส่วนฮอนด้า บริโอ อีโคคาร์อีกรุ่น รับรถได้เลยหรือรอนานไม่เกิน 1  เดือน ส่วนฮอนด้าซิตี้ และฮอนด้า แจ๊ซ ยังรอนาน 6-7 เดือน   ส่วนฮอนด้า ซีวิค รอนาน 4-5 เดือน   ส่วนค่าย อีซูซุ  ซึ่งลูกค้าเคยต้องรอนาน 6 เดือน เนื่องจากน้ำท่วมกระทบบริษัทผลิตชิ้นส่วน ปัจจุบันเริ่มผลิตได้ตามปกติ   ลูกค้ารอคิวรับรถ ประมาณ  3-4 เดือน
 นายวิเชียร เอมประเสริฐสุข  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด  เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า   ปัญหาการส่งมอบรถไม่ทันตามความต้องการของลูกค้าเป็นผลต่อเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ทำให้ผลิตและส่งมอบให้ลูกค้าไม่ทัน อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้พยายามเร่งปรับแผนการผลิตตั้งแต่ เดือนมิถุนายน ให้ 3 โรงงานคือที่โรงงานบ้านโพธิ์ โรงงาน เกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และโรงงานสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ  เร่งการผลิตเต็มที่ 2  กะ พร้อมทำงานเพิ่มในวันเสาร์และ ทำงานล่วงเวลา(โอที) รวม 3 กะ ซึ่งทำให้สามารถส่งมอบลูกค้าได้เร็วขึ้น  โดยมียอดค้างส่งมอบ(แบ็กออร์เดอร์) โดยเฉลี่ยประมาณ  3  เดือน 
alt "แต่หากเป็นโตโยต้า วีออส  และโตโยต้า ยาริส    รถยนต์นั่งขนาดเล็กยอดนิยมที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายลดภาษีรถคันแรก 100,000 บาท อาจต้องรอนาน 4 เดือน เนื่องจากมีผู้สนใจจองกันมาก   ส่วนรถรุ่นที่ต้องรอคอยนานมากที่สุดเห็นจะเป็น โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์  เพราะเป็นโมเดลที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้ามากเป็นพิเศษ  เพราะเป็นรถยนต์อเนกประสงค์ที่ผู้บริโภคชื่นชอบมากเป็นพิเศษ อาจต้องรอนาน 4-5 เดือน"   
 นายโออิชิ ยูกิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาสด้าเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์มาสด้าในประเทศไทย  เปิดเผยว่า  บริษัทแม่ปรับแผนการผลิตที่โรงงาน ออโต้ อัลลายแอนซ์(ประเทศไทย) จำกัด เพื่อตอบสนองตอบความต้องการภายในประเทศมากขึ้น  จากเดิม รถยนต์นั่ง ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 75% และส่งออก 25%    ปรับเปลี่ยนเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ  90% และส่งออกเพียง 10% ซึ่งทำให้บริษัทส่งมอบรถให้กับลูกค้าได้ทันกับความต้องการมากขึ้น จากเดิมส่งมอบได้เพียง 900 คัน/เดือน  ก็ปรับเพิ่มเป็น 2,500-2,700 คัน/เดือน ซึ่งทำให้ยอดค้างส่งมอบหรือแบ็กออร์เดอร์ลดลงเหลือ 3-4 เดือน  โดยปัจจุบัน มาสด้า 2 มียอดค้างส่ง 12,000 คัน  และปิกอัพ บีที-50 ค้างส่ง 6,000-7,000 คัน"
 นายยูกิ กล่าวต่อว่า  ตลาดรถยนต์หลังจากหมดมาตรการลดภาษีรถคันแรก อาจหดตัวอย่างรุนแรง  ซึ่งจะเห็นภาพอย่างชัดเจนในปี 2556-2557  ยอดขายรถจะดิ่งตัวอย่างชัดเจน  ซึ่งอาจกระทบในช่วงไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่ 2   หลังจากนั้น ตลาดจะกลับคืนสู่การขายรถช่วงปกติ  อย่างไรก็ตาม  จากการสอบถามที่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มาสด้าส่วนใหญ่เชื่อว่า แม้จะไม่มีการต่ออายุนโยบายลดภาษีรถคันแรก ลูกค้าก็ยังสนใจซื้อรถอย่างต่อเนื่อง
 นายชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา  ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่เข้มข้นมากกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากได้ทำการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ เทรลเบลเซอร์ และในเดือนสิงหาคม  ก็จะทำการเปิดตัว โซนิค ทำให้แนวรุกในครึ่งปีหลังจะได้เห็นว่าบริษัทจัดกิจกรรมที่ถี่มากขึ้น
 "เราเพิ่งเปิดตัวเชฟวี่ พลัส สิทธิพิเศษ สำหรับลูกค้า ที่ลงทุนกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดีมาก  ดังจะเห็นจากการที่ลูกค้าเข้ามาลงทะเบียนและโทร.เข้ามาสอบถามที่คอลล์ เซ็นเตอร์ นอกจากนั้นแล้วเราเตรียมที่จะไปโรดโชว์มากกว่า 20 ครั้งใน 20 จังหวัด ทั้งนี้เพื่อเข้าหากลุ่มลูกค้าโดยตรงอย่างใกล้ชิด"
 ขณะที่การตอบรับของรถรุ่นต่างๆในตอนนี้พบว่า รถอเนกประสงค์ เทรลเบลเซอร์ ที่เพิ่งเปิดตัวและมีคำสั่งซื้อมาก่อนหน้านั้นก็จะได้รับรถก่อน และลูกค้าที่จองในตอนนี้ก็อาจจะได้รับรถประมาณ 1-2 เดือน ส่วนครูซ มีแบ็กออร์เดอร์เฉลี่ย 3 เดือน ,โคโลราโด สามารถรับรถได้ทันที ,อาวีโอ ซีเอ็นจี เฉลี่ยรอรถประมาณ 1 เดือน และรถรุ่นที่รอนานในตอนนี้คือ แคปติวา ดีเซล ที่เฉลี่ยรอ 6 เดือน 
 นายชาญวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ครึ่งปีหลังยังคงมีแนวโน้มเติบโต โดยความต้องการรถของลูกค้ายังสูง ซึ่งในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์ก็มีการเร่งกำลังการผลิตเพื่อป้อนให้ทันกับความต้องการที่มีอยู่ โดยเชฟโรเลตมั่นใจว่าจะสามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้คือ 85,210 คัน
 ด้านนายสาโรช เกียรติเฟื่องฟู รองประธานฝ่ายการตลาด การขาย และการบริการ ฟอร์ด ประเทศไทย  เปิดเผย ว่าแนวรุกในครึ่งปีหลังจะทำการเปิดตัวรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ ฟอร์ด โฟกัส อย่างเป็นทางการในต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยเบื้องต้นลูกค้าที่ได้จองรถรุ่นนี้เข้ามาตั้งแต่งานมอเตอร์โชว์ในเดือนมีนาคมก็จะเริ่มทยอยรับรถในกลางเดือน กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ขณะที่รถรุ่นอื่นๆอย่าง เรนเจอร์ และ เฟียสต้า 1.5 ลิตร มีแบ็กออร์เดอร์เฉลี่ย 3-4 เดือน ส่วนเรนเจอร์ ไวด์แทรก  หากจองในวันนี้ต้องรอรับรถนาน 6 เดือน
 "เราไม่ได้ปิดรับจองไวด์แทรกแต่อย่างใด แต่ดีลเลอร์จะแจ้งกับลูกค้าให้ทราบก่อนจะจองว่าลูกค้าจะได้รับรถประมาณปีหน้า หรือบางดีลเลอร์อาจจะไม่รับจองเลยก็เป็นได้ เนื่องจากกังวลเรื่องเวลาในการส่งมอบให้กับลูกค้า  " 
 นายโนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด  เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากปัจจัยเสริมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรงของเศรษฐกิจของประเทศ ที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมทั้งมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลทั้งการสนับสนุนรถยนต์อีโคคาร์ หรือการส่งเสริมรถยนต์พลังงานทางเลือกตลอดจนมาตรการรถยนต์คันแรกต่างมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเราเชื่อว่ายอดขายรถยนต์รวมในปีนี้น่าจะเกิน 1 ล้านคัน และบริษัทตั้งเป้ายอดขายรวมของบริษัทไว้ที่ 10% ของตลาดรวม
 "รถยนต์มิตซูบิชิ มิราจ อีโคคาร์ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งจากการแนะนำรถรุ่นดังกล่าวสู่ตลาดเมืองไทย เพราะนับตั้งแต่เปิดตัวจนถึงปัจจุบัน มิราจ ใหม่ ได้กลายเป็นรถยนต์มิตซูบิชิอีกหนึ่งรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากลูกค้า เห็นได้จากยอดขายในเดือนที่ผ่านมาซึ่งสูงถึง  4,239  คัน ทำให้มียอดจองรวมนับจากเปิดตัวอยู่ที่ 29,671 คัน  (ตัวเลข ณ วันที่ 4 กรกฎาคม)  ในส่วนของยอดขายรถยนต์มิตซูบิชิรวมครึ่งปีแรก (มกราคม - มิถุนายน) นั้นอยู่ที่ 51,233 คัน เติบโตขึ้น 48.81% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา" 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.