สถาปัตยกรรม "กะดีจีน" ชุมชน 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ

 


สถาปัตยกรรม "กะดีจีน" ชุมชน 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ


สถาปัตยกรรม



ถึงแม้งานเทศกาล "กะดีจีน-ศิลป์ 3 ท่า" ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ได้จบลงแล้ว แต่สีสันของงานสถาปัตยกรรมเก่าในย่าน "กะดีจีน-คลองสาน-สะพานพุทธ" ในย่านฝังธนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งรวมของ 6 ชุมชน คือ ชุมชนวัดกัลยาณ์ กะฎีจีน กะฎีขาว บุปผาราม โรงคราม และวัดประยุรวงศ์ อันเป็นสถานที่จัดงาน ยังคงเป็นสิ่งที่น่าศึกษา

เพราะยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่รู้ว่า ที่นี่คือแหล่งชุมชนเก่าแก่ของชาวบ้าน 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ได้แก่ พุทธเถรวาท พุทธมหายาน คริสต์ และอิสลาม ที่ทยอยมาตั้งรกรากตั้งแต่ช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียว ถือเป็นแหล่งชุมชนตัวอย่างในยุคที่สังคมไทยมีความคิดแตกแยก

ขณะที่บางคนอาจสงสัยว่า ชื่อ "ย่านกะดีจีน" มีที่มาอย่างไร ! จริง ๆ แล้วหมายถึง...แหล่งรวมนักบวช ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่า "กุฎี" และ "กุฏิ" ส่วนที่เรียกว่า กะดีจีน เนื่องจากที่นี่มีศาลเจ้าจีน ชื่อ "เกียนอันเกง" ตั้งอยู่ และกลายเป็นที่มาของชื่อเรียก

กับที่มาของการจัดงานเทศกาล กะดีจีน-ศิลป์ 3 ท่า เกิดจากความตั้งใจของ "สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์" ที่เห็นว่า ในย่านนี้มีอาคารเก่าแก่ควรอนุรักษ์ไว้

ก่อนหน้านี้จึงได้มอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นให้กับอาคาร 4 แห่งไปแล้ว คือ โบสถ์วัดซางตาครู้ส ศาลเจ้าเกียนอันเกง พระบรมธาตุเจดีย์วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และมัสยิดบางหลวงกุฎีขาว

พร้อมกับปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ให้ดี และร่วมกับคนในชุมชน-องค์กรในพื้นที่จัดงานเทศกาลมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 2552 และ 2553 ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อปลุกคนในชุมชนให้เกิดความรู้สึกภูมิใจ และหวงแหนอาคารบ้านเรือนที่มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ถามถึงผลตอบรับ...แน่นอนว่าวันนี้เริ่มเห็นผลแล้ว

หนึ่งในนั้นมีสถาปัตยกรรมที่ชวนไปดู คือ "โบสถ์ซางตาครู้ส" โบสถ์คาทอลิกเก่าแก่สีเหลืองอ่อนที่ยังอยู่ในสภาพใหม่ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกสไตล์โคโลเนียล จุดเด่นคือ โดมบนยอดอาคารแบบโรมันสีชมพูอ่อน ส่วนผนังอาคารมีการเล่นลวดลายบัวปูนปั้น และซุ้มประตูทางเข้าโบสถ์ที่มีความโค้งมนตามสไตล์ยุโรป

อาคารอีกหลังที่สมาคมสถาปนิกสยามฯอยากจะให้เป็นอาคารที่ได้รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น แต่ยังไม่สำเร็จคือ "บ้านทรงขนมปังขิง" ริมแม่น้ำ

ตามประวัติน่าจะก่อสร้างขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 5-ต้นรัชกาลที่ 6 มีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี เป็นบ้านสไตล์ไทยโบราณที่มีการประดับตกแต่งด้วยลูกไม้ฉลุ แต่น่าเสียดายสภาพบ้านค่อนข้างเสื่อมโทรมแล้ว

และถ้าหากมีโอกาสเดินไปตามทางริมแม่น้ำ ก็จะได้เห็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่นั่งตามศาลาหรือตกปลายามเย็น

นี่คือส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ในย่านกะดีจีน ที่เปรียบเสมือนไข่แดงซ่อนอยู่กลางเมืองในยุคโลกาภิวัตน์







// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.