วธ.ตรวจวัดอรุณฯทรุด พบเชื้อรากินรอบองค์พระปรางค์
 


วธ.ตรวจวัดอรุณฯทรุด พบเชื้อรากินรอบองค์พระปรางค์


วธ.ตรวจวัดอรุณฯทรุด พบเชื้อรากินรอบองค์พระปรางค์
สุกุมล รุดตรวจสอบดินทรุดวัดอรุณฯ พบสาเหตุดินสไลด์หลังถูกน้ำท่วม มอบให้กรมศิลป์ค้นแผนที่วัดโบราณวางแผนป้องกันระยะยาว อึ้งพบปัญหาใหม่ "เชื้อรา" กัดกินรอบองค์พระปรางค์ สั่ง จนท.วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ บูรณะด่วน หวั่นกัดกินปูน เผยได้รับงบบูรณะทั้งหมด 5.4 ล้านบาท

วันที่ 20 ธ.ค. ที่วัดอรุณราชวราราม นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม พร้อมด้วย นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร เดินทางตรวจสอบบริเวณที่เกิดการทรุดตัวตามแนวกำแพงโบราณ วัดอรุณราชวราราม โดยนางสุกุมล กล่าวว่า ตนได้รับรายงานว่า มีการทรุดตัวของดิน บริเวณกำแพงโบราณ ที่ตั้งอยู่บริเวณโดยรอบขององค์พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม จึงได้นำผู้เชี่ยวชาญ และวิศวกร จากกรมศิลปากร มาตรวจสอบ โดยการเปิดหน้าดิน ยกอิฐบล็อกออก และเปิดท่อระบายน้ำ บริเวณใกล้เคียง พบสาเหตุเบื้องต้นว่า ทรายที่อยู่ในส่วนชั้นล่างของดินมีการไหลและสไลด์ตัว และมีบางส่วนไหลตามน้ำ เนื่องจากบริเวณนี้มีความชื้นตลอดเวลา เพราะที่ผ่านมาเกิดภาวะฝนตกต่อเนื่อง น้ำท่วมและมีการรดน้ำบริเวณนี้ทุกวัน จึงมีการสะสมของน้ำ เกิดการทรุดตัวของทรายไหลออกไป ทำให้เกิดช่องว่าง และทรุดตัวลง อีกทั้งช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา ทางวัดได้มีการใช้รถบรรทุกขนทรายเพื่อมาป้องกันน้ำท่วมจำนวนมาก พื้นดินจึงไม่สามารถรับน้ำหนักได้

นางสุกุมล กล่าวต่อว่า ทางผู้เชี่ยวชาญ และวิศวกร ของกรมศิลปากร ได้เสนอแนวทางการป้องกันเบื้องต้นว่า จะมีการนำทรายมาผสมกับซีเมนต์ เพื่อปูทับชั้นล่างก่อน ซึ่งมีความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นจะปูด้วยทรายซีเมนต์ อีก 8 เซนติเมตร และจะนำทรายมาอัดให้แน่นอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นนำอิฐขึ้นมาปูบนพื้นผิวด้านบนสุด คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้กรมศิลปากร มีการดูแลแนวท่อระบายน้ำ ซึ่งเมื่อเปิดดูท่อระบายน้ำดู พบว่า มีน้ำขังอยู่ประมาณ 40 เซนติเมตร ตลอดเวลา ทั้งๆที่ขณะนี้น่าจะแห้งแล้ว ซึ่งจากการหารือ อาจจะมีการเพิ่มบ่อพักน้ำ และมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติ หากเกิดระดับน้ำสูง ลูกลอยจะทำงาน และเครื่องสูบน้ำจะสูบออกทันที

“ส่วนการทรุดตัวของดินในครั้งนี้ จะมีผลกระทบต่อองค์พระปรางค์หรือไม่นั้น ต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า การก่อสร้างในสมัยโบราณมีความแข็งแรงมาก มีการนำท่อนซุงมาวางเป็นฐานราก ทางผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ดินทรุดตัวครั้งนี้ คงไม่มีผลกระทบต่อองค์พระปรางค์ แต่ที่น่าเป็นห่วง ก็คือ ในส่วนองค์พระปรางค์ขณะนี้มีความชื้นมาก โดยเฉพาะบริเวณที่ไม่โดนแดด มีเชื้อราขึ้นรอบองค์พระปรางค์ ตรงนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะจะเห็นว่าสภาพภายนอกองค์พระปรางค์ เกิดเป็นสีดำคล้ำทั้งองค์ หากปล่อยทิ้งไว้ ตัวเชื้อราจะกัดกร่อนองค์พระปรางค์ เกิดการหลุดร่อนของปูนที่ฉาบอยู่รอบองค์พระปรางค์ จึงอยากจะเร่งดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมด้วย” รมว.วัฒนธรรม กล่าว

นางสุกุมล กล่าวด้วยว่า ตนได้มอบให้กรมศิลปากร นำกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ มาขัดเชื้อราออกอย่างเร่งด่วน เพราะวัดอรุณฯ ถือว่าเป็นวัดสำคัญที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาชม ในระยะยาวจะมีการตรวจสอบผังของทางระบายน้ำ ซึ่งทางวัดยอมรับว่า ไม่มีการเก็บแผนผังการระบายน้ำไว้ เนื่องจากเป็นภูมิปัญญาโบราณ และไม่มีการถ่ายทอด จึงได้ให้กรมศิลปากรไปดูว่า มีการเก็บแบบไว้หรือไม่ สำหรับงบประมาณที่จะนำมาสนับสนุนการบูรณะครั้งนี้ ได้รับอนุมัติมาแล้ว 5.4 ล้านบาท

ด้านนายธราพงษ์ ศรีสุชาติ ผอ.สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่า จากการตรวจสอบจุดที่ดินทรุดตัว พบว่า เป็นบริเวณที่ลุ่มที่สุดของวัดอรุณฯ เมื่อเกิดฝนตกหรือน้ำท่วม จะเกิดน้ำขังอยู่บริเวณนั้น ทำให้ทรายทรุดตัวลง ยิ่งน้ำท่วมใหญ่ครั้งที่ผ่านมา ทำให้ทรุดตัวลงมากขึ้น ซึ่งนอกจากกระบวนการซ่อมแซมตามที่ รมว.วัฒนธรรมได้สั่งการแล้ว ยังได้มีการเสนอวิธีใช้แผ่นสังเคราะห์กันดินไหล ซึ่งสามารถให้น้ำไหลผ่านได้ แต่มวลดินผ่านไม่ได้ ส่วนเชื้อราบริเวณองค์พระปรางค์นั้น เกิดจากความชื้นสะสม เนื่องจากฝนตกปริมาณมาก จะเห็นได้ว่า โดยเฉพาะด้านอับแสงแดด จะมีเชื้อราเป็นจำนวนมาก วิธีการแก้ไข คือ จะใช้วิธีการขัดเชื้อราออก ซึ่งเป็นไปตามการดูแลรักษาโบราณสถานในรอบ 5-6 ปี จะมีการขัดเชื้อราออก 1 ครั้ง ซึ่งวัดอรุณฯ ก็ถึงเวลาที่จะต้องขัดเชื้อราออกแล้ว ส่วนวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อราเลยนั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเนื้อขององค์พระปรางค์ มีปูนที่ฉาบแบบโบราณ

ขณะที่พระครูอรุณธรรมานุวัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม กล่าวว่า การที่นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยนายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผอ.สำนักโบราณคดี เข้ามาตรวจสอบพื้นที่ทรุดภายในกำแพงเดิมของวัดนั้น ทำให้ทางวัดหมดความกังวลใจ เพราะทางกรมศิลปากร จะมาดำเนินการปรับพื้นที่ใหม่ และจะคอยตรวจสอบว่า จะมีการทรุดอีกหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลใจในเรื่องของเชื้อราที่มากับความชื้นในช่วงน้ำท่วม ซึ่งกำลังเกาะกินองค์พระปรางค์อย่างหนัก ก็เกรงว่าจะทำให้เกิดความเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องของเชื้อรา เป็นที่น่ายินดีที่ทางท่านรัฐมนตรีได้รับทราบ พร้อมทั้งเร่งรัดให้กรมศิลปากรเข้ามาดูแลแล้ว เนื่องจากเกรงว่า จะกระทบต่อองค์พระปรางค์ที่เป็นภาพลักษณ์ของประเทศ.


// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.